วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2551

ฝากให้อาจารย์

ขอฝากคลิปนี้ให้โยมอาจารย์เพื่อคลายความเครียดนะจารย์ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เรียกว่า สาราณิยธรรม มี ๖ อย่าง
๑.เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลังคือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกายมีพยาบาลภิกษุไข้ เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา.
๒.เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลังคือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา เช่น กล่าวสั่งสอนเป็นต้น ด้วยจิตเมตตา.
๓.เข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลังคือคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน.
๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรม ให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว
๕.รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น.
๖.มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่วิวาทกับใคร ๆ เพราะเหตุมีความเห็นผิดกัน.
ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกันเป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
อะไรเรียกว่า สาราณิยธรรม ?
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เรียก สาราณิยธรรม.
สาราณิยธรรม แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร ?
แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง หรือธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
หมายความว่า ภิกษุผู้ประพฤติอยู่ในสาราณิยธรรมนี้ ย่อมเป็นเหตุให้สพรหมจารีรักใคร่ ไม่เกลียดชัง เป็นไปเพื่อความสามัคคีซึ่งกันและกัน
คำว่าเข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาหมายความว่าอย่างไร ?
เข้าไปตั้งกายกรรม หมายความว่า ปฏิบัติต่อกันด้วยกาย
เข้าไปตั้งวจีกรรม ,, ,, ปฏิบัติต่อกันด้วยวาจา
เข้าไปตั้งมโนกรรม ,, ,, ปฏิบัติต่อกันด้วยใจ
ประกอบด้วยเมตตา ,, ,, ประกอบด้วยความรักกัน ฉันมิตร ตั้งความหวังอันดีเพื่อที่จะให้เกิดความสุขอย่างเดียว
คำว่า ทั้งต่อหน้า และลับหลัง หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่า ปฏิบัติให้เหมือนกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ใช่ทำดีแต่ต่อหน้า ทรงสอนให้ทำดี พูดดี คิดดีต่อกันทั้งในที่ต่อหน้า ทั้งในที่ลับหลัง เสมอไปด้วยจิตเมตตา
คำว่า ลาภ ได้แก่อะไร และคำว่า ลาภได้มาโดยชอบธรรม คืออะไร ?
คำว่าลาภ ได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ตลอดถึงเครื่องใช้สอยต่าง ๆ
คำว่าลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม คือ ปัจจัย ๔ และเครื่องใช้สอยที่ได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม
คำว่า แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยทางที่ชอบ คืออะไร ?
คือ มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เฉลี่ยลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม คือ ปัจจัย ๔ และเครื่องใช้สอยที่ได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ให้ผู้อื่นบริโภคใช้สอย ตามส่วนที่จะแบ่งปันกันได้ เพื่อเป็นเครื่องผูกไมตรีกันไว้ ตามพระบาลีว่า ททํ มิตตานิ คนถติ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้
คำว่า รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อน หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่ารักษาศีลให้บริสุทธิ์ ตามสมควรแก่เพศให้เป็นสีลสามัญญตา ความเป็นผู้เสมอกันโดยศีล ไม่หย่อนหนัก ไม่ตรึงนัก ปฏิบัติให้เป็นมัชฌิมา พอดี พองามตามกาลสมัย
คำว่า ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น คืออะไร ?
คือ รักษาศีลบริสุทธิ์ประพฤติตนให้สะอาดด้วยศีลแล้ว ก็จะไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ๆ เพราะศีลมีกลิ่นหอมชื่นใจใคร ๆ ก็ชอบคนมีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเป็นที่รักของเพื่อน ๆ ต้องรักษาศีลบริสุทธิ์ประพฤติตนให้สะอาดด้วยศีลแล้ว ก็จะไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ๆ เพราะศีลมีกลิ่นหอมชื่นใจใคร ๆ ก็ชอบคนมีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเป็นที่รักของเพื่อน ๆ
ผู้อยู่ร่วมกันทำอย่างไรเพื่อนจึงจะไม่รังเกียจ ?
ต้องรักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่น ๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น.ประพฤติตนให้สะอาดด้วยศีลแล้ว ก็จะไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ๆ เพราะศีลมีกลิ่นหอมชื่นใจใคร ๆ ก็ชอบคนมีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเป็นที่รักของเพื่อน ๆ
คำว่า มีความเห็นร่วมกัน หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่า มีความเห็นถูกร่วมกันเป็นทิฏฐิสามัญญตา มีความเสมอกันด้วยศีล ไม่มีทิฏฐิขัดแย้งไปในทางผิดจนเป็นเหตุทะเลาะวิวาทกัน แตกความสามัคคี
คนที่อยู่ร่วมหมู่เดียวกันจะต้องมีความเห็นร่วมกัน เพราะเหตุไร ?
คนที่อยู่ร่วมหมู่เดียวกันจะต้องมีความเห็นร่วมกัน เป็น ทิฏฐิสามัญญตา มีความเสมอกันด้วยศีล เพราะถ้ามีทิฏฐิขัดแย้ง จะเป็นเหตุทะเลาะวิวาทกันแตกความสามัคคีกัน
อยู่ให้เขาสบายใจ ไปให้เขาคิดถึง จะต้องปฏิบัติอย่างไร ?
ต้องปฏิบัติตามธรรม คือ สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
สาราณิยธรรมทั้ง ๖ ข้อไหนเป็นสำคัญ เพราะเหตุใด ?
ข้อ ๖ สำคัญ
เพราะการมีความเห็นตรงกันนั้น ทำให้เป็นที่รักและเคารพของกันและกัน เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้การงานที่ร่วมกันทำบรรลุผล
ธรรมะอะไร ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ?
ธรรม คือ สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
ธรรม คือ สาราณิยธรรม ๖ อย่าง มีอานิสงส์ อย่างไร ?
มีอานิสงส์ คือ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

องค์แห่งภิกษุผู้บวชใหม่ ๕ อย่าง




องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ อย่าง
๑. สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามทำตามข้อที่พระ พุทธเจ้าอนุญาต.
๒. สำรวมอินทรีย์ คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ความยินดี ยิน ร้ายครอบงำได้ ในเวลาที่เห็นรูปด้วย นัยน์ตาเป็นต้น.
๓. ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา.
๔. อยู่ในเสนาสนะอันสงัด.
๕. มีความเห็นชอบ.
ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่างนี้ ฯ

อะไรเรียกว่า องค์แห่งภิกษุใหม่ ?
ข้อปฏิบัติแห่งนวกภิกษุ หรือภิกษุผู้บวชใหม่ ยังไม่เกิน ๕ พรรษาเรียกว่า องค์แห่งภิกษุใหม่
่องค์แห่งภิกษุใหม่ หมายความว่าอย่างไร เหตุไรภิกษุใหม่จึงจำเป็นจะต้องมี ?
หมายความว่า ภิกษุใหม่ ต้องปฏิบัติตามคุณธรรมเหล่านี้โดยเคร่งครัด
เพราะตนละเพศฆราวาสมาบวชใหม่ ๆ ถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้ไว้ปฏิบัติก็ย่อมจะเจริญในพระศาสนา ถ้าไม่มีคุณธรรมเหล่านี้ไว้เป็นหลักปฏิบัติก็ย่อมไม่เจริญในพระศาสนา อาจจะต้องเคลื่อนจากพระศาสนา
สำรวมในพระปาติโมกข์ คือ อะไร หมายความว่าอย่างไร ?
คือ สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าอนุญาต
หมายความว่า ปฏิบัติตามสิกขาบทในพระปาติโมกข์ อันเป็นกฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้สำหรับพระภิกษุซึ่งมีอยู่ ๒๒๗ สิกขาบท
เพราะเหตุไร จึงให้ภิกษุใหม่สำรวมในพระปาติโมกข์ ?
เพราะภิกษุใหม่ละเพศฆราวาสมาบวช ความเป็นฆราวาสยังไม่หมดไปมีใจหวนคำนึงถึงบ้านของตนถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้ไว้ปฏิบัติก็ย่อมจะเจริญในพระศาสนา ถ้าไม่มีคุณธรรมเหล่านี้ไว้เป็นหลักปฏิบัติก็ย่อมไม่เจริญในพระศาสนา อาจจะต้องเคลื่อนจากพระศาสนา คือ ลาสิกขาออกไปก็ได้
สำรวมอินทรีย์ คืออะไร หมายความว่าอย่างไร ?
คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ความยินดี ยินร้ายครอบงำได้ ในเวลาที่ เห็นรูปด้วยนัยน์ตาเป็นต้น.
หมายความว่า มีสติระลึกรู้ทัน ไม่ให้เกิดความยินดี ยินร้ายในขณะตาเห็นรูป หูฟังได้เสียง จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสิ่งที่ถูกต้องกายได้ ใจ ได้รู้ธรรมมารมณ์ คือ เรื่องต่าง ๆ
มีความจำเป็นอย่างไร จึงให้ภิกษุใหม่สำรวมในอินทรีย์ ๖ ?
เพราะอินทรีย์ ๖ เป็นทางเกิดแห่งความยินดี ยินร้าย ถ้าไม่สำรวมแล้วความโทมนัสย่อมได้ช่องเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ประพฤติชั่วเสียหาย
ความสำรวมในพระปาติโมกข์และความสำรวมอินทรีย์ดีอย่างไร ?
ความสำรวมในพระปาติโมกข์ เป็นไปเพื่อความระเบียบเรียบร้อย ควรแก่การกราบไหว้และเป็นนาบุญของชาวโลก
ความสำรวมอินทรีย์ เป็นเครื่องควบคุมจิตให้สงบเป็นสมาธิ และเป็นอุปการะในการสำรวมในพระปาติโมกข์ คือสนับสนุนศีลสิกขาให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น
ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา คืออย่างไร ?
คือ การมีความสำรวมกาย วาจา มีสมณสัญญา ว่า เพศภิกษุเป็นเพศที่สูง เป็นที่เคารพบูชาของคฤหัสถ์ ถ้าภิกษุยังเป็นคนที่เอิกเกริกเฮฮา ก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชา เพราะกิริยาเช่นนั้นไม่แตกต่างอะไรกับคฤหัสถ์ ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต
เพราะอะไรจึงไม่ให้ภิกษุใหม่เป็นคนเอิกเกริกเฮฮา ?
เพราะกิริยาเช่นนั้น ไม่แตกต่างอะไรกับคฤหัสถ์ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต ไม่ใช่กิริยาของสมณะผู้สงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย กลับทำกิเลสราคะให้มากขึ้น เพิ่มความน่ารังเกียจให้มากขึ้น ไม่น่าเคารพกราบไหว้บูชา จึงไม่ให้ภิกษุใหม่เป็นคนเอิกเกริกเฮฮา
อยู่ในเสนาสนะอันสงัด หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่า ผู้บวชในพระพุทธศาสนานี้ มีพระพุทธานุญาตให้อยู่โคนไม้ในป่าที่สงัด ไกลจากชุมนุมชน เพื่อจะได้เจริญสมณธรรม คือ ทำใจให้สงบ สงัด จากกิเลสอันเป็นจุดของการบวช (ในปัจจุบันภิกษุอยู่ในอาราม ก็ควรที่จะหาสถานที่บางแห่งภายในวัดเป็นที่สงบสงัด พอจะเป็นที่เจริญสมณธรรมได้)
เพราะเหตุไร จึงให้ภิกษุใหม่ตั้งอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ?
เพราะการคลุกคลีกับหมู่เป็นข้าศึกแก่วิเวก(ความสงัด) เป็นที่ตั้งแห่งความฟุ้งซ่าน และไม่สะดวกแก่การศึกษา มีความเห็นชอบ หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่า เห็นถูกต้องตามคลองธรรม เช่น เห็นว่า บาปมี บุญมี บิดามีคุณ มารดามีคุณ ทำเหตุดี ได้ผลดี ทำเหตุชั่วได้ผลชั่ว เป็นต้น
เห็นอย่างไร ชื่อว่า เห็นชอบ ?
เห็นถูกต้องตามคลองธรรม เช่น เห็นว่า บาปมี บุญมี บิดามีคุณ มารดามีคุณ ทำเหตุดี ได้ผลดี ทำเหตุชั่วได้ผลชั่ว เป็นต้น
เพราะเหตุไร จึงให้ภิกษุใหม่ตั้งอยู่ในความเห็นชอบ ?
เพราะเมื่อมีความเห็นชอบดังนี้ ก็ย่อมมีใจฝักใฝ่แต่ในความดี เป็นเหตุแห่งการประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามธรรมวินัย.
เพราะเหตุไร ภิกษุใหม่จึงต้องตั้งอยู่ในองค์ ๕ ?
เพราะภิกษุใหม่ยังไม่รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัยดี และยังเป็นผู้ไม่มั่นคง ถ้าไม่ตั้งอยู่ในองค์ ๕ อย่างนี้ อย่างเคร่งครัดแล้วจะเป็นภิกษุอยู่ไม่ได้ หรือเป็นอยู่ได้ ก็ไม่ใช่ภิกษุที่ดี อันเป็นศรีของพระพุทธศาสนา.
ภิกษุเก่าไม่ต้องตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้หรืออย่างไร ?ท่านไม่กล่าวไว้เพราะเหตุไร ?
ต้องตั้งอยู่ในองค์ ๕ เหมือนกัน
แต่ที่ไม่กล่าวถึง เพราะภิกษุเก่าท่านได้ผ่านการเป็นภิกษุใหม่มาแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ได้กล่าวถึงอีก.

เรื่องตลก

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551

กฏแห่งกรรม

มรรคมีองค์ ๘
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔.
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ
ดำริจะออกจากกาม ๑.
ดำริในอันไม่พยาบาท ๑.
ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑.
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔.
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบคือเว้นจากกายทุจริต ๓
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด.
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน.
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐาน ๔.
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔.
ในองค์มรรค ทั้ง ๘ นั้น สงเคราะห์เข้าในสิกขา ๓ ได้อย่างไรบ้าง ?
- เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าในปัญญาสิกขา
- วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เข้าใน สีลสิกขา
- เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ สงเคราะห์เข้าในจิตตสิกขา
คำว่า มรรค แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร ?
แปลว่า หนทาง
หมายความว่า ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์
เพราะเหตุไร จึงชื่อว่ามรรค มีเท่าไร อะไรบ้าง ?
เพราะเป็นวิธีที่จะให้บุคคลดำเนินไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งที่สาธุชนปรารถนายิ่งนัก มี ๘ คือ ๑.สัมมาทิฎฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
จงให้ความหมายของมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดมาดู ?
สัมมาทิฏฐิ หมายถึง เห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔
สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ คือ
ดำริออกจากกาม
ดำริในความไม่พยาบาท
ดำริในการไม่เบียดเบียน
สัมมาวาจา หมายถึง เจรจาชอบ คือ เว้นจากวจีทุจริต ๔
สัมมากัมมันตะ หมายถึง ทำการงานชอบ คือ เว้นจากกาย ทุจริต ๓
สัมมาอาชีวะ หมายถึง เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากการเลี้ยงชีวิตโดย ทางที่ผิด
สัมมาวายามะ หมายถึง เพียรชอบ คือ เพียรในที่ ๔ สถาน เช่น เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้น เป็นต้น
สัมมาสติ หมายถึง ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอารมณ์
สัมมาสมาธิ หมายถึง ตั้งใจชอบ คือการเจริญฌาน ๔
ในธรรมวิภาคท่านกล่าวอะไรเป็นตัวมรรค และอะไรเป็นองค์มรรค ?
ท่านกล่าวปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ให้ถึงความดับทุกข์ ว่าเป็นตัวมรรค
ท่านกล่าวปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ ว่าเป็นองค์มรรค
มรรค ๘ นั้น เป็นโลกิยะหรือโลกุตระ รู้ได้อย่างไร ?
เป็นได้ทั้งโลกิยะและโลกุตระ
รู้ได้ด้วยองค์มรรค ๘ เป็นสังขตธรรม เพราะสังขตธรรมท่านกำหนดไว้ว่า ได้แก่มรรค ๔ ผล ๓ ข้างต้น คือ ตั้งแต่อรหัตมรรคลงมายังเป็นธรรม ยังมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่
ส่วนอรหัตผลเป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นโลกุตตระ
มรรคนั้นจะพึงกำจัดสังโยชน์ได้ด้วยวิธีเช่นไร ?
ด้วยวิธีกำหนดรู้ทุกขสัจ ละสมุทัยสัจ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ และทำมรรคสัจ ให้เกิดขึ้น
มรรค ๘ กล่าวว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไร ทรงตรัสสอนใครเป็นครั้งแรก ?
เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นท่ามกลาง ไม่หย่อนนักไม่ตึงนัก เพราะไม่เข้าใกล้ส่วนผิด อันลามก ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค
ตรัสสอนแก่ พระภิกษุเบญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก
จงจัดมรรค ๘ ลงในวิชชา และจรณะ มาดู ?
สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ นี้ จัดลงในวิชชา
สัมมาวาจาตลอดถึงสัมมาสมาธิ ทั้ง ๖ นี้จัดลงในจรณะ
อะไรเป็นตัวมรรค ?
ปัญญาอันเห็นชอบ ว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ให้ถึงความดับทุกข์ เป็นตัวมรรค
อะไรเป็นองค์แห่งมรรค ?
ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทำความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ เป็นองค์แห่งมรรค
สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค กับ ในอริยสัจ ๔ ต่างกันอย่างไร ?
ต่างกัน คือ
สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค เป็นดวงตา คือ เครื่องเห็น
สัมมาทิฏฐิ ในอริยสัจ ๔ เป็นธรรม คือ สิ่งที่ถูกเห็น
ผู้ประสงค์ ความสงบสุข จะเดินทางสายไหน จึงจะประสบดังประสงค์ ?
ต้องเดินทางมัชฌิมาปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
ธรรมที่ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดนั้น คืออะไร ?
ธรรมที่ไพเราะในเบื้องต้น คือ ศีล
ธรรมที่ไพเราะในท่ามกลาง คือ สมาธิ
ธรรมที่ไพเราะในที่สุด คือ ปัญญา
หากปฏิบัติมรรค ๘ เพียงข้อใดข้อหนึ่งให้สมบูรณ์แล้วจะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ เพราะเหตุไร ?
ไม่ได้ เพราะในองค์มรรคเหล่านั้น ย่อมต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะว่ามรรคอันหนึ่ง ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแก่องค์มรรคอันอื่นต่อไปตามลำดับ.
สังขตธรรมและอสังขตธรรม มีธรรมอะไรเป็นยอดเยี่ยม ?
สังขตธรรม มีมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นยอดเยี่ยม
อสังขตธรรม มีวิราคธรรม คือ พระนิพพานเป็นยอดเยี่ยม
มรรค คือ อะไร ทำไมจึงชื่อว่าอริยมรรค ?
มรรค คือ หนทาง เป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางอันบุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพานแสวงหา
ที่ชื่อว่า อริยมรรค เพราะเป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางไกลจากข้าศึกคือกิเลส หรือ เป็นทางที่ทำบุคคลให้เป็นอริยะ
ธรรม ๘ ประการ มี สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีชื่อเรียกว่าอะไรได้บ้าง ?
ธรรม ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีชื่อเรียกว่า
มรรค เพราะเป็นทางอันบุคคล ผู้ปรารถนาพระนิพพานพึงแสวงหา
อัฎฐังคิกมรรค เพราะเป็นทางอันประกอบด้วยองค์ ๘
อริยาษฎางคิกมรรค เพราะเป็นทางอันประกอบ ด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐหรือไกลจากข้าศึก คือ กิเลส
พรหมยาน เพราะเป็นยานเครื่องไปอันประเสริฐ
ธรรมยาน เพราะเป็นธรรมเครื่องไปดุจยาน
อนุตรสังคามวิชัย เพราะเป็นผู้ชนะสงคราม ไม่มีอื่นจะยิ่งไปกว่า
มัชฌิมาปฏิปทา เพราะเป็นข้อปฏิบัติเป็นกลาง
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะเป็นข้อปฏิบัติ เป็นเครื่องดำเนินถึงความดับทุกข์

พระคุณแม่
แม่ตื่นก่อนนอนที่หลังระวังลูก จิตท่านผูกเพียรระวังตั้งรักษา
ยุงจะกินริ้นจะกัดก็พัดพา บางเวลาไม่ได้หลับระงับเลย
แม่ป้องริ้นป้องไรมิให้ผ่าน แม่สงสารห่วงลูกยากว่าทรัพย์สิน
แม่เห่กล่อมนิทราเป็นอาจิณ แม่ไม่ผินแม่ไม่ผันทุกวันมา
ยามลูกสุขแม่สุขสมอารมณ์ชื่น ยามลูกขื่นแม่ขมระทมกว่า
ยามลูกไข้แม่นอนร้อนอุรา ยามลูกยาอัปโชคแม่โศกใจ
ยามลูกหิวแม่หิวกว่าน้ำตาร่วง แม่เป็นห่วงดิ้นรนหาเอามาให้
แม้แม่อดหมดข้าวปลาไม่ว่าอะไร แม่สละได้ลูกอิ่มแปล้แม่ทนเอา
ใครไหนเล่าเฝ้าอบรมบ่มนิสัย แม้เติบใหญ่ไม่ท้อถอยคอยนั่งเฝ้า
พระคุณเลิศลูกโศกช่วยบรรเทา ใครไหนเล่ารักมั่นแท้แม่ฉันเอง
รักใดเล่าจะแน่เท่าแม่รัก ผูกสมัครรักลูกมั่นไม่หวั่นไหว
ห่วงใดเล่าเท่าห่วงดังดวงใจ ที่แม่ให้กับลูกอยู่ทุกครา
ยามลูกขื่นแม่ขมตรมหลายเท่า ยามลูกเศร้าแม่โศกวิโยคกว่า
ยามลูกหายแม่ห่วงคอยดวงตา ยามลูกมาแม่ลดหมดห่วงใย
รักของใครไม่เท่าศักดิ์รักของแม่ รักแน่แท้แม่รักอยู่ไม่รู้สร่าง
ศัตรูร้ายก็ไม่กายมากั้นกาง ถึงรักนางรักนายก็ไม่เกิน
แม้รักยศรักศักดิ์อัครฐาน รักการงานสารพันรักสรรเสริญ
รักสนุกทุกสถานสำราญเทอญ รักไม่เกินรักของแม่รักแท้เอย
พระคุณแม่กว้างกว่าขอบฟ้ากว้าง แม่สรรสร้างอนาคตลูกสดใส
อ้อมอกดังโล่ห์ทองคุ้มผองภัย เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกตน
มือแม่ด้านหน้าแม่ดำผิวคล้ำไหม้ หยาดน้ำใจใสสะอาดยิ่งหยาดฝน
เหงื่อแม่หลั่งหนักแม่เอาเบาแม่ทน แม่ไม่บ่นแม่ไม่เบื่อเพื่อใครกัน
แม่รักลูกปลูกฝังทางศึกษา อีกจรรยาแม่อบรมบ่มนิสัย
แม่รักลูกปกป้องคุ้มผองภัย ลูกรักแม่ก็จงได้กตัญญู
แม่คำนี้มีค่ากว่าทุกสิ่ง รักลูกจริงยิ่งชีวิตคิดสร้างสรรค์
เอาพื้นดินน้ำฟ้ามารวมกัน มิทันเท่าเทียมแม่แต่อย่างใด
ถึงสังขารราญแหลกแม่แลกได้ หวังจะให้ลูกตนพ้นภัยผอง
แม้สูญสิ้นดินฟ้าธารานอง ลูกขัดข้องแม่ช่วยได้ปลอดภัยเอย
พระคุณแม่กว้างกว่ามหาสมุทร พระคุณแม่สูงสุดมหาศาล
พระคุณแม่เลิศฟ้าสุทธาธาร ขอกราบกรานพระคุณแม่อย่างแท้จริง

พระคุณพ่อ
พระคุณพ่อก่อเกิดกำเนิดบุตร พระคุณพ่อสูงสุดยิ่งภูผา
พระครูพ่อเจือจุนอุ่นอุรา พระคุณพ่อยิ่งฟ้าดารากร
พระคุณพ่อก่อลูกมาพบโลก พระคุณพ่อดับโศกเมื่อทุกข์ร้อน
พระคุณพ่อแผ่เผื่อเอื้ออาทร พระคุณพ่อสั่งสอนให้ลูกดี
พระคุณพ่อเย็นเกล้าทุกเช้าค่ำ พระคุณพ่อเลิศล้ำสุรีย์ศรี
พระคุณพ่อหาใดเปรียบไม่มี ลองดูสินึกเทียบเปรียบแทนคุณ
จะเทียบดินดินก็ด้อยน้อยนักหน่า จะเทียบฟ้าฟ้าก็ทรามต่ำสถุล
จะเทียบน้ำอีกทั้งลมไม่สมดุล ปิตุคุณใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งใด
ถึงจะเมาเช้าเย็นก็เป็นพ่อ จะพูดจาแอ้อ้อก็พ่อฉัน
จะติดคุกติดตารางทางพนัน ก็ไม่พ้นพ่อฉันอยู่นั่นอง
อันบุคคลผู้ใดใครลืมพ่อ ผู้นั้นก็เลวทรามต่ำกว่าหมา
เพราะว่าพ่อให้กำเนิดเกิดกายา ไม่มีพ่อแล้วเราจะเกิดมาได้อย่างไร
ยามเย็นค่ำเคยพูดจ้อกันพ่อลูก เคยปรับทุกข์ลูกพ่อขอขนม
พ่อรักลูกปลูกฝังหวังชื่นชม พ่อจึงสมสุภาษิตมิตรในเรือน
พระคุณพ่อเลิศฟ้ามหาสมุทร พระคุณพ่อสูงสุดมหาศาล
พระคุณพ่อเลิศฟ้าสุทธาธาร ขอกราบกรานพระคุณพ่ออย่างแท้จริง






วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

ธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง


ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลก ๒ อย่าง
๑. หิริ ความละอายแก่ใจ.
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัว.

อะไร เรียกว่าธรรมคุ้มครองโลก หรือ ธรรมเป็นโลกบาล ?
ธรรมคุ้มครองมนุษย์โลก ให้คงเป็นสังคมมนุษย์อยู่ได้
ธรรมคุ้มครองโลกมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
มี ๒ อย่าง คือ
๑. หริ ความละอายแก่ใจ
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต
อะไรเรียกว่า หิริ ?
ความละอายแก่ใจในขณะกำลังจะทำชั่ว ทั้งทางกาย วาจา ใจ รู้สึกขยะแขยงใจไม่กล้าทำความชั่ว เรียกว่า หิริ
อะไรเรียกว่า โอตตัปปะ ?
ความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต คิดเห็นภัยที่เกิดจากการทำความชั่ว เรียกว่า โอตตัปปะ
ทำไม ท่านจึงเรียกว่า ธรรมสำหรับคุ้มครองโลก ?
เพราะย่อมคุ้มครองโลกให้อยู่กันด้วยความรัก สามัคคี ไม่มีความอาฆาตพยาบาทปองร้ายกันและกัน ทำให้การเป็นอยู่ร่วมกัน มีความสงบสุขร่มเย็น
ธรรมเป็นโลกบาล (ธรรมคุ้มครองโลก) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร ?
มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ โลกปาลธมฺโม ”
โลกตั้งอยู่ได้เพราะใครเป็นผู้คุ้มครอง ?
เพราะมีธรรมเป็นผู้คุ้มครอง คือ หิริ โอตตัปปะ เป็นผู้คุ้มครอง
คำว่า โลก นั้นหมายเอาอะไร ?
หมายเอาหมู่สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินทั้งหมดไม่ได้หมายเอาทวีปหลาย ๆ ทวีปมารวมกัน
หิริ โอตตัปปะ แปลว่าอะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ
โอตตัปปะ แปลว่า ความเกรงกลัว
ต่างกัน คือ
หิริ ได้แก่ ความละอายแก่ใจ ตะขิดตะขวงใจต่อความชั่วของตนเอง ในการที่จะประพฤติทุจริต
โอตตัปปะ ได้แก่ความหวั่นกลัวความไม่กล้าทำผิดเพราะคำนึงถึงผลแห่งบาปด้วยตนเอง คือ เกิดความคิดกลัวขึ้น ในสันดาน ของตนเอง.
ถ้าขาดหิริ และ โอตตัปปะแล้ว โลกจะเป็นอย่างไร ?
ถ้าคนเราไม่มีหิริ และ โอตตัปปะแล้ว ต่างคนต่างก็จะเบียดเบียนกันและกัน ไม่วางใจกันในที่ทุกสถาน จะอยู่กันอย่างไม่เป็นสุข.
หิริ โอตตัปปะ มีคุณอย่างไร ?
มีคุณหลายสถาน ให้มีความเกลียดชังต่อบาปทุจริตสะดุ้งกลัวต่อผลอกุศลกรรม ไม่กล้าทำความชั่ว ได้รับความสุขสำราญทั่วกัน ให้เว้นทุจริต ประกอบสุจริต มีเมตตาอารีต่อกัน ควบคุมกันอยู่โดยเป็นหมวดหมู่ ต่างวางใจในชีวิตและทรัพย์ของกันและกัน
หิริ และ โอตตัปปะ มีลักษณะและอุปมาต่างกันอย่างไร ?
มีลักษณะและอุปมาต่างกัน ดังนี้
- หิริ มีลักษณะ สยะแสยงต่อการทำบาป
อุปมาเหมือน บุคคลผู้รักสวยรักงาม เกลียดชังสิ่งโสโครก ฉะนั้น
- โอตตัปปะ มีลักษณะ สะดุ้งกลัวต่อการทำบาป
อุปมาเหมือน บุคคลผู้ซึ่งหวาดกลัวต่ออสรพิษ แม้ตัว เล็กก็ไม่กล้าเข้าใกล้
ธรรมที่ทำลายโลก คืออะไร ?
ธรรมที่ทำลายโลก
คือ อหิริกะ ความไม่มีหิริ ความไม่ละอาย
อโนตตัปปะ ความไม่มีโอตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป
ธรรม คือ หิริ และ โอตตัปปะ เป็นธรรมคุ้มครองโลกอย่างไร ?
ธรรม ๒ ประการนี้ มีประจำใจย่อมประพฤติสุจริตทั้งต่อหน้าและลับหลัง เมื่อมนุษย์ทำแต่ความดี ย่อมมีแต่ความเจริญ ความเสื่อมไม่มี เมื่อมนุษย์เจริญ พิภพก็เจริญขึ้นตาม
ท่านจึงเรียกธรรม ๒ ประการนี้ว่าเป็นเครื่องอภิบาล คือ คุ้มครองโลก ทั้งภายนอก (พิภพซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย) และภายใน (หมู่สัตว์)
หิริ โอตตัปปะ ชื่อว่าเป็นโลกบาล คุ้มครองโลกอย่างไร ?
คือ ธรรมทั้ง หิริ โอตตัปปะ เป็นโลกบาล คุ้มครองโลก คือ ป้องกันหมู่สัตว์ให้ดำรงอยู่โดยสันติสุขตามวิสัยของสัตว์โลก
ธรรม คือ หิริ โอตตัปปะชื่อว่าสุกกธรรมและเทวธรรม เพราะเหตุไร ?
ที่ชื่อว่าสุกกธรรม เพราะเป็นธรรมฝ่ายกุศลอันเปรียบด้วยสีขาวและเป็นไปเพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิต
ที่ชื่อว่าเทวธรรม เพราะเป็นธรรมทำบุคคลให้เป็นเทวดาหรือให้เป็นผู้รุ่งเรือง
ธรรมอะไร เป็นเครื่องปกครอง หรือรักษาน้ำใจคน ?
ธรรม คือหิริ และโอตตัปปะ เป็นเครื่องปกครองคนและรักษาน้ำใจคน
หิริ และ โอตตัปปะ เป็นเครื่องรักษาโลกอย่างไร ?
เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งห้ามปรามไม่ให้กล้าทำความชั่วลงได้ แม้มีโอกาสที่จะกระทำ เมื่อเข้าใจว่าการที่จะทำ เป็นความชั่วแล้ว ก็รู้สึกละอาย หวาดหวั่นใจไม่อาจทำลง เพราะถือหิริ โอตตัปปะเป็นใหญ่ โลกจึงมีความสุขและตั้งอยู่ยั่งยืนสืบมา
หิริ โอตตัปปะ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร ?
หิริ โอตตัปปะ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทวธรรม แปลว่า ธรรมของเทพหรือเทวดา

วุฒิธรรม คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ


จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฒิ (คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ) ๔ อย่าง
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบ ด้วยกาย
วาจา ใจ ที่ เรียกว่า สัตบุรุษ.
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ.
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดี หรือชั่ว โดย
อุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม
ซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว.

อะไร เรียกว่า วุฒิ มีกี่อย่าง ?
ธรรมเป็นเหตุแห่งความเจริญ หรือ เป็นเครื่องเพิ่มพูนความเจริญ เรียก วุฑฒิ
มี ๔ อย่าง
วุฒิ ๔ อย่าง คือ อะไรบ้าง ?
วุฒิ ๔ อย่าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบสัตบุรุษ ผู้ประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือที่ชั่ว ด้วยอุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้ตรองเห็นแล้ว
เป็นเหตุผลเนื่องกันอย่างไร ?
เป็นเหตุเป็นผลเนื่องกัน คือ
๑. คบสัตบุรุษ
๒. เป็นเหตุให้ได้ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพแล้ว
๓. เป็นเหตุให้ได้ใช้ความตริตรองหาเหตุผล ให้รู้จักผิดและถูกโดยถ่องแท้ คนที่รู้จักผิดและถูกได้ก็เพราะอาศัยโยนิโสมนสิการซึ่งเป็นผลสำเร็จมาแต่การฟังคำสอน
๔. ต่อจากนั้นก็จักเป็นเหตุให้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว
เมื่อคบสัตบุรุษแล้วจะได้ผลดีอย่างไร ?
ย่อมได้ฟังคำแนะนำในทางที่ดี เมื่อได้ฟังแล้ว จดจำใส่ใจ เพ่งพิจารณาให้เข้าใจชัด ปฏิบัติให้เหมาะสม เมื่อพร้อมด้วยธรรมทั้ง ๔ นี้ ย่อมมีแต่ความเจริญ
สัตบุรุษ หมายถึงใคร ?
หมายถึง คนดี มีความประพฤติดี มีกาย วาจา ใจ สงบมีจิตมั่นคง ประกอบด้วยธรรม ของสัตบุรุษ มีรู้จักเหตุ รู้จักผล เป็นต้น
ทำอย่างไร เรียกว่าคบสัตบุรุษ ?
คือ การเข้าไปมาหาสู่ และ ทำความสนิทสนมกับท่าน (สัตบุรุษ ผู้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ) โดยควรแก่ฐานะนั้น ๆ เรียกว่าคบสัตบุรุษ ฯ
อะไร ชื่อว่าสัทธรรม ?
คำสั่งสอนของสัตบุรุษ ชื่อว่าสัทธรรม
อะไรชื่อว่าสัทธัมมัสสวนะ ?
การเงี่ยหูรับเสียงธรรม ตั้งใจฟังคำแนะนำ สั่งสอน ตักเตือนของท่านสัตบุรุษด้วยความเคารพ คือ ไม่ส่งใจไปอื่น กำหนดจดจำ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติตาม ชื่อว่าสัทธัมมัสสวนะ
ฟังเช่นไร ชื่อว่าฟังโดยเคารพ ?
ตั้งใจฟังด้วยมีสติ คอยกำหนดตาม ไม่ปล่อยให้อารมณ์ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ คอยประคองใจให้ดำเนินไปตามกระแสความที่ท่านสอนนั้นเท่านั้น ชื่อว่าฟังโดยเคารพ
ตริตรองเช่นไร ชื่อว่าตริตรองโดยอุบายที่ชอบ ?
ตริตรองโดยใช้วิจารณปัญญาพิจารณาให้รู้จักนัยและลักษณะของธรรมนั้น ๆ และไตร่ตรองดูว่าธรรมนั้นควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลแก่ตน เมื่อทราบชัดแล้ว เลือกฟั้นผ่อนผันปฏิบัติให้เหมาะสมกับกาละเทศะ ภูมิ ฐานะของตน ชื่อว่าตริตรองโดยอุบายที่ชอบ
โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือที่ชั่ว ด้วยอุบายที่ชอบ หมายถึงอะไร ?
หมายถึงความคิดนึกตรึกตรองพิจารณาให้ถ่องแท้ให้แจ่มแจ้ง ประจักษ์ถึงเหตุเกิดของสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้ม ได้สัมผัส ได้รู้ ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.
ประพฤติเช่นไร เรียกว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ?
ประพฤติดี ปฏิบัติให้พอควรแก่ความดี กล่าวคือ ต้อง ปฏิบัติด้วยกายวาจาใจให้สมควรแก่ตน คือ ต้องประพฤติ ปฏิบัติให้พอควรแก่ฐานะ ภาวะ เพศ วัย และหน้าที่ และให้เหมาะแก่การและสถานที่ ชื่อว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
จงสงเคราะห์วุฒิ ๔ ลงในไตรสิกขา ?
ข้อ ๑ และข้อ ๔ (สัปปุริสสังเสวะ และธัมมานุธัมมปฏิบัติ) ลงในสีลสิกขา
ข้อ ๒ และข้อ ๓ (สัทธัมมัสสวนะ และ โยนิโสมนสิการ) ลงในปัญญาสิกขา
บุคคลประพฤติตามวุฒิ ๔ จะให้ผลเป็นอย่างไร ?
บุคคลประพฤติตามวุฑฒิ ๔ โดยลำดับ ความเจริญก็จะเกิดมีแก่บุคคลผู้ประพฤติตามโดยลำดับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551

พระวิทยากร

ตำนานพระพุทธชินราช
พระพุทธชินราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารใหญ่ด้านตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีลักษณะงดงามที่สุด ในบรรดาพระพุทธรูปของประเทศไทย พระพุทธชินราชองค์นี้เป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนทุกชั้นมาตั้งแต่สมัยโบราณจนทุกวันนี้ และเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทรงเคารพบูชามาทุกรัชสมัย
ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ( พญาลิไท ) รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัยได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้นมี ๓ องค์คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา พระพุทธรูปหล่อทั้ง ๓ องค์ มีขนาดต่าง ๆ กัน คือ พระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้ว พระพุทธชินสีห์ หน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว พระศรีศาสดา หน้าตักกว้าง ๔ ศอกคืบ ๖ นิ้ว เมื่อการสร้างพระพุทธรูปสำเร็จบริบูรณ์แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ได้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินราชประดิษฐาน ณ วิหารใหญ่ทิศตะวันตก พระพุทธชินสีห์ประดิษฐาน ณ พระวิหารทิศเหนือ พระศรีศาสดาประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านใต้
แต่ในการหล่อพระพุทธรูปดังกล่าวนั้น เมื่อหล่อเสร็จแล้วมีเศษทองเหลืออยู่ จึงเอามารวมกันหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑ ศอกเศษ องค์ ๑ เรียกนามว่า พระเหลือ กับพระสาวกเป็นพระยืนอีก ๒ องค์ อิฐทีก่อเตาหลอมทองและสุมหุ่นในการหล่อพระ ได้เอามารวมกันก่อเป็นชุกชีตรงที่หล่อพระพุทธรูป สูง ๓ ศอก และปลูกต้นมหาโพธิ์ลงบนชุกชี ๓ ต้น แสดงว่าเป็นพระมหาโพธิ์สถานของพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาทั้ง ๓ องค์ จึงเรียกว่าโพธิ์สามเส้าสืบมา สร้างวิหารน้อยขึ้นในระหว่างต้นมหาโพธิ์หลัง ๑ เชิญพระเหลือและพระสาวกเข้าประดิษฐาน ณ ภายในวิหารนั้น วิหารน้อยหลังนี้จึงนิยมเรียกกันต่อมาว่า วิหารพระเหลือ หรือวิหารหลวงพ่อเหลือ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราช เยื้องไปทางเล็กน้อย
พงศาวดารเหนือได้กล่าวเรื่องการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาเจือนิยายไว้มีใจความว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้โปรดให้สร้างเมืองพิษณุโลกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ตรัสให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีพระมหาธาตุรูปปรางค์สูง ๘ วา และพระวิหารทิศ กับระเบียงรอบพระมหาธาตุทั้ง ๔ ทิศ โปรดให้ช่างชาวชะเลียง ( สวรรคโลก ) เชียงแสน และหริภุญชัย ( ลำพูน ) ร่วมมือกันสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ๓ องค์ สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ ได้เริ่มทำพิธีเททองหล่อเมื่อ ณ วัน พฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๓๑๗ ( พ.ศ.๑๔๙๘ ) เมื่อกะเทาะหุ่นออกแล้ว ทองคงแล่นติดเป็นองค์พระบริบูรณ์เพียง ๒ องค์ ต้องทำพิธีหล่อต่อมาอีก ๓ ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จ ครั้งหลังที่สุด พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกต้องตั้งสัจจาธิษฐาน แล้วทำพิธีเททองหล่อเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๓๑๙ ( พ.ศ.๑๕๐๐ ) จึงสำเร็จเป็นองค์พระบริบูรณ์ ในการหล่อครั้งหลังสุดนี้ปรากฏว่า มีชีปะขาวผู้หนึ่งจะมาแต่ที่ใดไม่มีใครทราบ ได้มาช่วยปั้นหุ่นและเททองหล่อพระด้วย เมื่อเสร็จพิธีหล่อพระแล้ว ปะขาวก็ออกเดินไปเหนือเมือง พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หายตัวไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก ดังนั้นจึงเข้าใจกันว่า ปะขาวผู้นั้นคือเทวดาแปลงตัวมาช่วยหล่อพระพุทธชินราช จึงได้พุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก เลยเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้น ส่วนหมู่บ้านที่ปะขาวไปหายตัวนั้น ก็เลยได้นามภายหลังว่า บ้านปะขาวหาย หรือ ตาปะขาวหาย มาจนทุกวันนี้

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551

พระคุณแม่ (ธรรมบรรยาย)

จุดเทียนกตัญญู
เยาวชนทั้งหลาย กิจกรรมชุดนี้พระอาจารย์ได้จัดทำขึ้น เพื่อให้เยาวชนผู้เป็นที่รัก ได้ละลึกนึกถึงบุพพการีของลูกๆ ผู้เป็นที่รักทั้งหลาย เพื่อยกย่องสถาบันพ่อ แม่ ของลูกๆ พ่อ แม่ ของปวงชนชาวไทย ที่มีบทบาทต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้ลูกได้ละลึกนึกถึงภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อสถาบันครอบครัว และสังคมโดยมีสถาบันพ่อ แม่ เป็นแกนนำในการทำความดี เพื่อเน้นให้ลูกๆ ทั้งหลาย ได้คำนึงนึกถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อพ่อแม่ ต่อครอบครัว ต่อสังคม สงเสริมตนเองให้มีคุณภาพ มีคุณธรรม ไม่เป็นภาระของสังคมส่วนรวม หากแม้นคุณงามความดีที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมชุดนี้ พระอาจารย์ขออุทิศคุณงามความดีทั้งหมด ให้แก่คุณแม่ทุกๆ คนที่อยู่ในสังคมนี้ ลำดับต่อไปนี้ ขอให้เยาวชนทั้งหลายได้น้อมละลึกนึกถึงใครสักคนหนึ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตของเรา
เมื่อล้มกลิ้งใครหนอวิ่งมาช่วย แล้วปลอบด้วยคำหวานกล่อมขวัญให้
พร้อมจูบที่เจ็บชะมัดปัดเป่าไป ผู้นั้นไซร้ที่แท้แม่ฉันเอง
ในขณะที่ลูกๆ ก้าวเท้าออกจากประตูบ้าน ลูกๆเคยทราบไหมว่ามีสายตาคู่หนึ่ง กำลังมองลูกๆด้วยความห่วงใย ในขณะที่ลูกๆ กำลังสนุกสนาน เพลิดเพลิน ลูกๆ ทราบไหมว่า มีบุคคลหนึ่งกำลังเหงื่อไหลไคลย้อยคร่ำเครียดอยู่กับการทำงาน และขณะที่ลูกๆกำลังใช้จ่ายเงินอย่างฟุ้งเฟ้อ ลูกๆเคยมองย้อนกลับไปดูที่บ้านบ้างหรือไม่ว่ามีบุคคลคนหนึ่งกำลังอดเพื่อให้เราอิ่ม มีบุคคลคนหนึ่งกำลังทุกข์เพื่อให้เราสุข จากวันนั้นถึงวันนี้ ขณะนี้ เดี่ยวนี้ เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ชีวิตร่างกายจิตใจที่ครบอาการ ๓๒ นี้ อยู่รอดมาได้เพราะใคร ทุกวันนี้ถึงวันนี้ เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ลูกได้ใช้จ่ายเงินของคุณพ่อคุณแม่หมดไปกี่บาทแล้ว เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ลูกได้ทานข้าวของคุณพ่อคุณแม่หมดไปกี่กระสอบแล้วและเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ลูกได้ใช้เสื้อผ้าของคุณพ่อคุณแม่หมดไปกี่ชุดแล้ว

ทุกวันนี้ลูกอยู่กับใครลูกเคยทำอะไรให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจกับตัวลูกบ้าง ลูกเคยทำอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ชื่นใจกับตัวลูกบ้าง ลูกคิดจะตอบแทนบุญคุณของคุณพ่อคุณแม่แล้วหรือยัง ในฐานะที่คุณพ่อคุณแม่ได้เลี้ยงลูกมาแต่เล็กจนโต ลูกเคยทำอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ชื่นใจกับตัวลูกบ้าง ลูกรักคุณพ่อคุณแม่แล้วหรือยัง จงรักคุณพ่อคุณแม่เสียแต่วันนี้ ก่อนที่จะไม่มีให้รัก
คำใดไม่ซึ้งตรึงใจเหมือนแม่ อันพระคุณปกแผ่มีแก่ลูกน้อยกลอยใจ
อกแม่เคยโอบอ้อมเห่กล่อมละมุนละไม ยุงเอ๋ยเคยกินริ้นไต่แม่เฝ้าแกว่ง
ไกวลูกให้นิทรา
คำว่าแม่เป็นคำที่ไพเราะที่สุดในโลก ไม่ว่าใครจะเลี้ยงลูกมาก็ตาม คำคำเรียกที่ลูกจะเรียกได้คือว่าแม่ คำว่าแม่เป็นคำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พื้นดินที่เราอาศัยอยู่นี้ เราเรียกว่าแม่ธรณี พื้นน้ำที่กว้างไกลเราก็เรียกว่าแม่น้ำ เป็นใหญ่ในกองทัพเราก็เรียกว่าแม่ทัพ เป็นใหญ่ในบ้านเราก็เรียกว่าแม่บ้าน ทั้งทั้งที่แม่ทัพเป็นผู้ชายแต่สังคมยกย่อง ให้เรียกว่าแม่ทัพ คำว่าแม่จึงเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คำว่าเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก
แม่ลำบากตรากตรำทุกค่ำเช้า หนักก็เอาเบาก็สู้ไม่รู้หนี
แม่เหน็ดเหนื่อยเมื้อยหล้าทั้งตาปี แม่ยอมพลีชีวิตอีกจิตใจ
ก็เพื่อลูกผูกพันกระสันรัก แม้ดวงตาแม่รักควักให้ได้
เมื่อลูกโศกแม่เล่ายิ่งเศร้าใจ ทั่วแดนไกลไม่มีใครดีเกิน
คำว่าแม่เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่งว่า มีครอบครัวครอบครัวหนึ่งอยู่ต่างจังหวัด ครอบครัวนั้นคุณพ่อได้เสียไปนานแล้ว คุณแม่เหลือลูกชายผู้เป็น
แก้วตาดวงใจอยู่เพียงคนเดียว อยู่ต่อมาลูกชายได้อ้อนวอนคุณแม่ว่า แม่ครับ ผมของเงินคุณแม่ไปเรียนต่อที่กรุงเทพได้ไหมครับ แม่ได้เตือนสติลูกว่า ลูกเอ๋ย ฐานะทางบ้านเรามันจน แม่จะเอาเงินที่ไหนมาส่งลูกเรียน แต่ลูกชายไม่ยอม ลูกชายได้เถียงแม่ว่าหากแม่ไม่ส่งผมไปเรียน ผมจะไป ผมจะออกจากบ้านนี้ ด้วยความรักและเอ็นดูลูกชายคนเดียว แม่ได้ตัดสินใจขายไร่นาทั้งหมด ขายวัวขายควายที่มีอยู่ เพื่อส่งลูกเรียน หลังจากที่ลูกเรียนที่กรุงเทพได้พักหนึ่ง ลูกเป็นคนโชคดี ลูกเรียนจบเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ หลังจากที่ลูกเรียนจบไปแล้ว แม่ก็นั่งภาคภูมิใจกับตัวเองว่าได้ส่งลูกเรียน และหวังว่าลูกจะกลับมาเลี้ยงแม่ ลูกของแม่หายไปเป็นเวลาหลายปี มีคนข้างบ้านเขามาเล่าให้แม่ฟังว่า ลูกของแม่ได้ดิบได้ดี เป็นตำรวจที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงเทพ แม่ได้ฟังข่าวนั้นแล้วแม่นอนไม่หลับทั้งคืน แม่ตัดสินใจว่าพรุ่งนี้เช้าจะต้องไปเยี่ยมลูกชายที่กรุงเทพ แม่ได้จัดชื้อสิ่งของเตรียมขอพื้นเมืองต่างๆ เพื่อจะเอามาฝากลูก คืนนั้นแม่นอนไม่หลับทั้งคืน แม่ตื่นแต่เช้ารีบรุดไปที่สถานี บ.ข.ส เพื่อนั่งรถเข้ากรุงเทพ แม่นั่งรถทั้งวันไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ใจอยากจะให้ถึงกรุงเทพเร็วๆ เพราะอยากจะเห็นหน้าลูก แม่ลงรถแล้วต่อรถไปที่สถานีตำรวจที่เพื่อบ้านได้แจ้งไว้ เมื่อไปถึงสถานีตำรวจลูกชายของแม่กำลังเข้าเวรพอดี เห็นคุณแม่เดินมาแต่ไกล แต่งตัวซอมซ่อเหมือนคนบ้านนอก ลูกชายรู้สึกอายผู้คนที่อยู่บนสถานีนั้น และตัดสินใจว่าจะทำเป็นไม่รู้จักคุณแม่ของตัวเอง สักครู่ต่อมาแม่ก็เดินขึ้นสถานีตำรวจ เดินไปถามนายตำรวจคนหนึ่งว่า ลูกชายของฉันคนนี้อยู่ที่ไหน หลายคนชี้มือไปที่โต๊ะแม่ได้เดินไปนั่งต่อหน้าลูกชาย พร้อมกับเรียกลูกๆ แม่มาเยี่ยม ลูกแม่มาเยี่ยม ลูกชายได้เงยหน้าขึ้นแล้วถามไปว่า คุณป้ามาแจ้งความหรือครับ ป้ามีเรื่องอะไรครับ ถ้าไม่มีธุระอะไรก็รีบออกไปก่อน เพราะผมมีธุระมาก แม่ได้พยายามย้ำคำเดิมอยู่หลายครั้งว่าแม่ของลูกแม่มาเยี่ยมลูก ลูกจำแม่ไม่ได้หรือ แม่ย้ำคำเดิมตั้ง ๒-๓ ครั้ง แต่ลูกชายก็เมินเฉยความรักที่แม่มีต่อลูกแม่อุตสาห์เดินทางมาแต่ไกลแม่กลั่นไว้ไม่อยู่น้ำตาได้ไหลออกจากดวงตาทั้งสองข้าง แม่ก้มลงหยิบตระกร้าด้วยมืออันสั่นเทาพร้อมกับพยุงกายของตัวเองออกไปต่อหน้าลูก แม่ได้กลับมาอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของแม่ แม่คิดไม่ถึงเลยว่าลูกชายสุดที่รักของแม่ ที่แม่ส่งไปเรียนจะเป็นเช่นนี้ไปได้ อยู่ต่อมาไม่นาน มีเพื่อนบ้านคนหนึ่งเอาหนังสือพิมพ์มาให้แม่อ่าน แล้วถามว่าลูกชายของแม่เป็นตำรวจใช่ไหม แม่ตอบว่าใช่ ชื่อนี้ ใช่ไหม ใช่ นามสกุลนี้ใช่ไหม ใช่ ขณะนี้ลูกชายของแม่ที่เป็นตำรวจนั้นได้ถูกผู้ร้ายยิงตายไปแล้ว พอทราบข่าวว่าลูกชายถูกผู้ร้ายยิงตาย แม่แทบเป็นลม แม่ได้รวบรวมเงินทองที่มีอยู่ทั้งหมดมุ้งหน้าเข้ากรุงเทพ เพื่อติดต่อขอรับศพลูกชายมาบำเพ็ญกุศล แม่ไม่เคยรังเกียจลูกเลยว่า ลูกจะลืมแม่ ลูกจะลืมบุญคุณของแม่ที่เลี้ยงลูกมา แม่ไม่เคยคิดถึงเลยแต่ความศักดิ์สิทธิ์ของแม่ ทำให้ลูกชายต้องสิ้นอายุขัยไป คำว่าแม่ จึงเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก
ความทุกข์ของพ่อแม่นั้นมีอยู่ ๓ อย่างคือ
๑ ทุกข์เพราะไม่มีลูก มีพ่อแม่หลายคนที่ไม่มีลูกพ่อแม่รู้สึกเป็นทุกข์
๒ ทุกข์เพราะลูกตาย มีพ่อแม่หลายคนที่มีลูกแล้วแต่ลูกตายก็รู้สึกเป็นทุกข์
๓ ทุกข์เพราะลูกชั่ว พ่อแม่หลายคนมีลูกแล้วแต่ลูกประพฤติไม่ดี พ่อแม่รู้สึก
เป็นทุกข์อย่างหนักกว่าลูก
พ่อแม่เลี้ยงลูกมาแต่เล็กจนโต แม่ขอ ๓ อย่างกับลูกได้ไหม แม่ขอเพียง ๓ อย่าง กับลูกเท่านั้น
ยามแก่เฒ่าหมายเจ้าเฝ้ารับใช้ ยามป่วยไข้หมายเจ้าเฝ้ารักษา
เมื่อถึงคราวันตายวายชีวา หวังลูกยาช่วยปิดตาคราสิ้นใจ
ต่อไปนี้ขอให้ลูกๆ ผู้เป็นที่รักทั้งหลาย ได้นั่งตัวตรงมือขวาทับมือซ้าย พร้อมกับตั้งสัจจะปฏิญาณในใจว่า หากแม้นคุณพ่อคุณแม่ผู้เป็นที่รักของลูกยังมีชีวิตอยู่ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ของลูกตลอดไป หากแม้นคุณพ่อคุณแม่ได้จากลูกไปแล้ว ลูกๆ ทั้งหลายขอบูชาพระคุณของท่าน ขอให้ดวงวิญญาณของท่านไปสู่สุคติ เกิดชาติหน้าชาติไหนขอให้เราได้เกิดเป็นลูกเป็นแม่เป็นพ่อกันอีก หากจะเปรียบชีวิตระหว่างแม่กับลูกแล้ว เหมือนกับดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยไม้ขีดไฟนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า การที่บุคคลได้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ยาก ขณะที่เรายังไม่รู้เรื่อง คุณแม่สามารถที่จะไม่ให้เราเกิดได้ เพียงกินยาเพียงเม็ดเดียว หรือการที่เกิดมาแล้วเขาไม่เลี้ยงดู ลูกจะกลายเป็นคนกรำพร้า ชีวิที่เกิดแล้วนั้นน้อยยิ่งนัก พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรียบเหมือนน้ำที่อยู่บนใบบัว พอต้องแสงตะวันก็เหือดแห้งหายไป เปรียบเหมือนโคที่เขานำไปสู่ที่ฆ่า ชีวิตนี้ไม่ถึงร้อยปีก็จักตาย ขอให้ลูกๆ ทุกคนได้นั่งตัวตรง พร้อมกับระลึกนึกถึงอดีตของเราที่ผ่านมาว่า อดีตของตัวเรา อดีตของคุณพ่อคุณแม่ของเราว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากไหน เริ่มต้นจากจุดหนึ่งของชีวิตคืนหนึ่งคืนนั้นนานแสนนาน เป็นคืนที่คุณยายฝันว่า ยายฝันเห็นดวงเดือนและดวงดาวที่ลอยสกาวอยู่บนท้องและยายไขว่คว้าเอาดวงเดือนและดวงดาวนั้นมาถือไว้ในอุ้งมือของตน รุ่งเช้ามีผู้ทำนายฝันของยายว่า บัดนี้ได้มีบุคคลที่สองเกิดขึ้นในท้องของท่านแล้ว และบุคคลนั้นก็คือคุณแม่ของเราในปัจจุบันนี้นั่นเอง แปดถึงเก้าเดือนที่เคลื้อนคลอย ลูกน้อยคือคุณแม่ของเราได้อาศัยร่างของคุณยายเป็นแดนเกิด เก้าถึงสิบเดือนลูกน้อยคือคุณแม่ของเราได้คลอดจากร่างกายของคุณยายมาสู่โลกใหม่นี้ ครั้งแรกในชีวิตของแม่ แม่รักคุณตาและคุณยายมากที่สุดในโลก คุณตาและคุณยายได้ให้ความรักและความอบอุ่นแก่แม่เสมอมา จนกระทั่งแม่โตขึ้นมาสู่วัยเด็กแม่มีเพื่อนมากแม่ก็รักเพื่อนมากที่สุดในโลก ชีวิตของแม่ในขณะนั้นจึงรู้ว่าเกิดมาเพื่อเพื่อน หลังจากที่แม่เรียนจบการศึกษาโตเป็นสาวสมควรที่จะมีครอบครัวได้ แม่ก็มีคนรักคือคุณพ่อของเราในปัจจุบันนี้ แม่รักพ่อมากที่สุดในโลก ชีวิตของแม่ในขณะนั้นจึงรู้ว่าเกิดมาเพื่อพ่อ แต่หลังจากทั้งสองแต่งงานอยู่กินกันมานานพอสมควร แม่ก็มีความฝันเหมือนกับคุณยาย แม่ฝันว่า แม่ได้ดวงเดือนดวงดาวที่ลอยมาจากท้องฟ้ามาถือไว้ในมือของตน นี่แสดงว่าได้มีบุคคลที่สองมาเกิดในท้องของแม่แล้ว แม่เริ่มนับวันเดือนที่ผ่านไปแต่ละวัน จากเดือนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แม่ฝันเห็นเด็กตัวน้อย ๆ ที่ขดงออยู่ในท้องของแม่ ปานนี้ลูกจะเป็นอย่างไร แม่ฝันถึงลูกน้อยของแม่ ที่จะลืมตามาดูโลกใหม่ในไม่ช้านี้ สายใยแห่งความรักความฝูกพันและความห่วงใยได้เกิดขึ้นแล้วในดวงใจของแม่ แม่นึกถึงลูกน้อยในท้องทุกขณะจิตว่า ลูกจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม แม่เต็มใจเลี้ยงเสมอ แม่ฝันต่อไปอีกว่า ลูกของแม่ที่คลอดออกมาจะเป็นเด็กที่น่ารักน่าเอ็นดู พร้อมกับความฝันและความคิด แม่เริ่มกับมาสำรวจตัวเอง สิ่งที่แม่ไม่เคยทำแม่ต้องทำ สิ่งที่แม่ไม่เคยอดแม่ต้องอด สิ่งที่แม่ไม่เคยระวังแม่ต้องระวังเพราะขณะนี้ชีวิตร่างกายและจิตใจของแม่ไม่ใช่ตัวคนเดียวแล้ว แม่มีคนอีกคนหนึ่งอาศัยร่างกายของแม่อยู่ แม่กลัวและกลัวที่จะมีอะไรมากระทบกระเทือนถึงลูกน้อยในท้องของแม่ แม่เมื่อรู้สึกว่ามีลูกน้อยในท้อง ใครจะรู้ได้ว่ามีความรู้สึกอย่างไรตลอดเวลา ๘-๙ เดือนแม่จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร แม่จะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับการอุ้มท้องลูกเป็นเวลา ๙ เดือน ในขณะที่ร่างกายของคุณแม่กำลังทรุดโทรมอยู่กับการอุ้มท้องนั้น แม่เริ่มจัดหาสิ่งของไว้เพื่อลูกแล้วแม่ได้เตรียมผ้าอ้อมที่นอนและของเล่นไว้ ทั้งที่แม่เองยังไม่รู้เลยว่าจะมีโอกาสได้เห็นหน้าลูกหรือเปล่าเราทั้งหลายคงเคยได้ยินคำว่าตายท้องกลม มีแม่หลายคนที่อาภัพนัก ไม่เห็นแม้กระทั่งหน้าลูกของตนเอง พอคลอดลูกชีวิตของแม่ก็อำลาโลก ชีวิตที่ขาดแม่นั้นลูกจะความรักความอบอุ่นจากใคร ที่ทั้งหมดที่แม่ได้วาดภาพไว้ ที่แม่ได้คิดไว้ที่แม่ได้ฝันไว้ จะเป็นความจริงหรือไม่ต้องถามลูกน้อยทุกคนในขณะนี้ว่า ปัจจุบันนี้หนูเป็นลูกที่เลวที่สุดสำหรับพ่อแม่หรือเปล่า ถ้าปัจจุบันนี้หนูเป็นลูกที่เลวที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แสดงว่าคืนนั้นแม่คงฝันร้ายและโชคร้ายที่เกิดมามีลูกชั่วลูกเลว แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าปัจจุบันนี้หนูเป็นลูกที่ดีที่สุดของพ่อแม่ของวงศ์ตระกูล แสดงว่าคืนนั้นแม่คงฝันดี และโชคดีที่เกิดมามีลูกดีเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล ถ้าจะถามลูกว่า ลูกเกิดมาจากไหน ทุกคนตอบว่าหนูเกิดมาจากท้องแม่ ถ้าจะถามต่อไปอีกว่า ก่อนที่จะมาเกิดในท้องของแม่ลูกมาจากไหน ลูกทราบไหม ลูกรู้ไหม ไม่รู้ ไม่มีใครรู้เลยว่าก่อนที่จะมาเกิดในท้องของแม่ ลูกมาจากไหน เทียนที่พระอาจารย์จุดข้นนี้ และเทียนที่ลูกๆจุดขึ้นนี้ เทียนไม่เคยรู้เลยว่า ไฟที่มาไหม้ตัวเองนั้นมาจากไหน แต่เทียนก็ให้แสงสว่างทุกครั้งที่เราต้องการแสงสว่าง เทียนไม่เคยรู้ฉันใด แม่ของลูกก็เช่นนั้น แม่ไม่รู้เลยว่า ดวงวิญญาณของลูกที่มาเกิดในท้องของแม่ มาจากสวรรค์ชั้นไหน หรือนรกขุมใด แต่สิ่งที่แม่ยอมรับได้ แม่ยอมรับดวงวิญญาณของลูกทุกดวงที่มาเกิดในท้องของแม่ ไม่ว่าดวงวิญญาณนั้นจะชั่วหรือเลวสักปานใดก็ตาม ไม่ว่าลูกคนนั้นจะชั่วหรือเลวสักปานใดก็ตาม แม่ก็สามารถเลี้ยงลูกนั้นได้ด้วยความสนิทใจ ขอลูกๆผู้เป็นที่รักทั้งหลาย ได้รำลึกนึกถึงบุคคลที่รักเรามากที่สุดในโลก บุคคลที่ห่วงใยเรามากที่สุดในโลก ในขณะที่ลูกๆกำลังนั่งอยู่นี้ ในขณะที่พระอาจารย์กำลังพูดอยู่นี้ ชีวิตของลูกๆกำลังเจริญขึ้น กำลังก้าวหน้าขึ้น แต่ลูกๆเคยมองย้อนกลับไปดูที่บ้านบ้างไหมว่าขณะนี้ได้เกิดอะไรขึ้น แม่ผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่ลูกมา แม่ผู้พลีเลือดมาเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน แม่ผู้พลีเนื้อทุกส่วนมาให้ร่างกายลูกสุขสมบูรณ์ บัดนี้ชีวิตของแม่ท่านเหลืออะไรไว้บ้าง ในที่สุดชีวิตของแม่ก็เหมือนกับไฟที่กำลังไหม้ดวงเทียน ในขณะที่ดวงเทียนกำลังให้แสงสว่างแก่ผู้อื่น แต่ดวงเทียนกับสั้นลงๆ สิ่งที่เทียนเหลือสุดท้ายคือไส้ดำๆ ที่ติดอยู่กับปลายนิ้วนี้ ในวาระสุดท้ายของชีวิตแม่ แม่เหลือเพียงกองกระดูกที่เป็นเถ่าถ่านให้ลูกน้อยถือโกษไปรับที่เชิงตระกอนเท่านั้นหรือ
ลูกเอ๋ยลูกน้อยกลอยใจแม่ แม่ดูแลฟูมฟักเลี้ยงรักษา
ทั้งเห่กล่อมยอมลำบากตรากตรำมา ยามเจ้าตื่นหรือนิทราก็อาทร
พ่อของเจ้าก็เอาใจไม่น้อยกว่า เหน็ดเหนื่อยจากงานมาอุตสาห์ป้อน
รีบชงนมต้มน้ำช้ำอดนอน แม้เจ้าร้องออดอ้อนไม่ดุดัน
ยามเมื่อลูกเจ็บไข้ใจแทบขาด ภาวนาให้แคล้วคลาดจากภัยนั้น
อยากรับทุกของลูกมาผูกพัน อยากกีดกันภัยทุกอย่างให้ห่างไกล
เมื่อเติบโตให้เจ้าเข้าใจซึ้ง เราสองคนผู้ชึ่งอยู่ชิดใกล้
ถึงดุด่าว่าตีใช่อะไร ก็เพราะหวังปลูกฝังให้เจ้าได้ดี
ลูกอย่าขึงอย่าโกรธโทษผิดๆ จงพินิจด้วยปัญญาอย่าหลีกหนี
ที่พ่อแม่รักเจ้าเท่าชีวี เลี้ยงลูกมาจนบัดนี้เพื่ออะไร
มิหวังใดจากเจ้าเท่าปลายเข็ม อยากให้เจ้าเปรี่ยมเต็มทุกสมัย
ด้วยคุณธรรมนำรอดตลอดไป เพราะความดีจะคุ้มภัยตลอดกาล
พ่อแม่ไม่มีเงินทองจะกองให้ จงตั้งใจพรากเพียรเรียนหนังสือ
หาวิชาความรู้เป็นคู่มือ เพื่อยึดถือเอาไว้ใช้เลี้ยงกาย
พ่อแม่มีแต่จะแก่เฒ่า จะเลี้ยงเจ้าเรื้อยไปนั้นอย่าหมาย
ใช้วิชาช่วยตนไปจนตาย เจ้าสบายแม่กับพ่อก็ชื่นใจ
แม่รักเจ้านี้เพียงใด ห่วงลูกยิ่งใหญ่ควรรู้
พ่อเจ้าก็รักเอ็นดู ดิ้นรนต่อสู้อดทน
หวังให้เจ้าอยู่เป็นสุข พ่อแม่ยอมทุกข์ไม่บ่น
เมตตาพร่ำสอนผ่อนปรน เพื่อลูกเป็นคนดีแท้
อยากให้ลูกมีคุณธรรม คารวะน้อมนำพ่อแม่
อย่าทำดื้อดึงชนะแพ้ น้ำตาพ่อแม่จะหลั่งนอง
ขอเพียงเท่านี้ลูกเอ๋ย เกินเลยไหมที่จะสนอง
ธรรมะเท่านั้นคุ้มครอง ปกป้องคนดีร่มเย็น
ชีวิตควรมีหางเสือ ดั่งเรือที่ดีมิเว้น
ลูกจงตั้งจิตบำเพ็ญ ธรรมะเป็นคุณตลอดไป
ขอฝากดวงใจอันเป็นที่รักที่เคารพ ที่บูชา ของคุณแม่ทุกดวงให้แก่ลูกๆ ขอให้ลูกๆ ทั้งหลาย จงเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ก่อนที่จะไม่มีคุณพ่อคุณแม่ให้เลี้ยง พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า มารดาบิดาเป็นพระพรหมของบุตร เป็นบุรพาจารย์ของบุตร เป็นพระอรหันต์ของบุตร เพราะว่าท่านทั้งสองเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร พระพุทธศาสนาได้ให้ความสำคัญ ได้ให้เกียรติยกย่องสถาบันพ่อแม่ว่า มารดาบิดา เป็นผู้กำเนิด เป็นผู้เลี้ยงดู เป็นผู้คุ้มครองรักษา เป็นผู้เดือดร้อนและห่วงใย เป็นมิตรในเรือน เป็นครูคนแรก เป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นพระพรหมของลูก ลูกที่อกตัญญูต่อพ่อแม่นั้นจะเป็นลูกที่มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ในหน้าที่การงานได้อย่างไร แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าลูกรักคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่วันนี้แล้ว ลูกก็รักคนอื่นได้ ถ้าลูกไม่สามารถเลี้ยงคุณพ่อคุณแม่ได้ ลูกก็ไม่สามารถเลี้ยงคนอื่นได้เช่นเดียวกัน หากว่าบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดยังไม่สามารถรับใช้ได้ ไม่สามารถเลี้ยงได้ ไหนเลยที่จะคิดถึงบุคคลอื่นที่อยู่หางไกลตัวเราออกไปอีก กิจกรรมนี้พระอาจารย์ได้จัดทำขึ้นเพื่อน้อมรำลึกนึกถึง พระคุณของพ่อแม่ และบุพการีทั้งปวง หากแม้นคุณงามความดีที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมชุดนี้ พระอาจารย์ขออุทิศให้กับดวงใจแม่ทุกดวง และขอให้ลูกๆทุกคนได้ตระหนัก ได้ระลึกนึกถึงบุคคลที่เลี้ยงเรามาแต่เล็กจนโต เราจะตอบแทนท่านอย่างไร หากเราตอบแทนไม่ได้ด้วยร่างกาย จิตใจเราก็ยังอยู่ เราสามารถที่จะตอบแทนท่านได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ขอความสุขความเจริญจงบังเกิดมีแก่ลูกๆผู้มีความกตัญญูต่อบุพการีทุกๆคน ขอให้ลูกๆผู้เป็นที่รักทุกคนประคองดวงเทียนที่ถืออยู่ด้วยความระมัดระวัง อธิษฐานใจในอันที่จะกระทำความดีเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ แล้วนำเทียนมาปักบนถาดที่เตรียมไว้

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551

ประวัติวัดสันติวัน
วัดสันติวันเดิม เป็นสำนักวิปัสสนาพระธาตุสันติวัน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งทางด้านปริยัติคือการศึกษา และส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งในแต่ละปีที่ดำเนินการมามีผู้สนใจเข้ารับการอบรมและปฏิบัติเป็นจำนวนมากทุกปี และโดยเฉพาะ ในแต่ล่ะปีจะมีพระภิกษุสามเณรมาศึกษาและปฏิบัติอยู่จำพรรษาเป็นจำนวนมากทุกๆปี เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรผู้เข้ามาปฏิบัติ มีสังกัดที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ไทย และเพื่อความดีงามอื่นๆ ทางจังหวัดจึงอยากให้เป็นวัดที่ถูกต้อง คณะปฏิบัติธรรมจึงเห็นสมควรว่าจะต้องหาที่เพิ่มเติม โดยมี คุณแม่ละไม ชีคุณ ได้บริจาคเงินเพื่อซื้อที่เพิ่มเติม จำนวน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ( เจ็ดล้านบาท ) และคณะผู้ปฏิบัติธรรมกับสาธุชนทั้งหมดร่วมกันอีก ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ( หนึ่งล้านบาท ) รวมเป็น ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ( แปดล้านบาท ) เพื่อซื้อที่เพิ่มจากนายสถิต ขันกสิกรรม จำนวน ๑๒ ไร่ ถวายเพื่อสร้างและตั้งเป็นวัดรวมทั้งสำนักปฏิบัติธรรมอยู่เดิมด้วย ประมาณ ๒๔ ไร่ และได้ทำเรื่องขออนุญาตสร้างวัด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดจากกรมการศาสนาเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ ดำเนินการก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติมเห็นสมควรตั้งเป็นวัด จึงได้ทำหนังสือขออนุญาตสร้างวัด และได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อ วัดสันติวัน เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๘๙/๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้เป็นวัด ทางวัดสันติวัน ก็ได้ดำเนินการก่อสร้าง ถาวรวัตถุเพิ่มเติม เช่น ศาลาการเปรียญ กุฎีสงฆ์ โรงครัว เพื่อรองรับเยาวชนและประชาชนที่เข้าอบรมคุณธรรมจริยธรรม และเข้ามาปฏิบัติธรรม เป็นจำนวนมากในแต่ล่ะปี และวัดสันติวันก็ยังต้องสร้างถาวรวัตถุที่ถือว่าสำคัญยิ่งของวัดถือว่าเป็นหัวใจของวัด แต่ว่าพื้นที่ที่มีอยู่ถูกใช้เป็นอย่างอื่นไปหมด ทางคณะผู้ปฏิบัติธรรม และคณะกรรมการของวัดจึงมีความเห็นตรงกันว่าจะต้องซื้อที่เพิ่มเพื่อสร้างอุโบสถ จึงได้ตกลงซื้อที่ อีกจำนวน ๔ ไร่ ของนางสีลา เขม้นเขตการ เป็นจำนวนเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท ( แปดแสนบาท ) รวมกับที่ดินที่มีอยู่เดิมเป็น ๒๘ ไร่ และได้ลงมือดำเนินการก่อสร้างอุโบขึ้นในปี ๒๕๔๘ ปรารภการสร้างอุโบสถเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชครบ ๖๐ ปี และขณะนี้การดำเนินการก่อสร้างก็เสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ วัดสันติวันแห่งนี้ เป็นสถานที่ส่งเสริมการปฏิบัติ และหลักการปฏิบัติของวัดตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ หลักมหาสติปัฏฐาน ๔ ผู้ใดสนใจใคร่ในการปฏิบัติธรรม สามารถติดต่อเข้ารับการปฏิบัติได้ทุกเวลา
อาณาเขตที่ตั้งวัดสันติวัน
ทิศเหนือ ติดกับ ถนนสาธาณประโยชน์
ทิศใต้ ติดกับที่ นายปัญญา สุวรรณแก้ว
ทิศตะวันออก ติดกับ ถนนสายพึงพระ- ดงพลวง ( ถนนสาธารณประโยชน์ )
ทิศตะวันตก ติดกับ ถนนสาธารณประโยชน์
อาคารเสนาสนะต่างๆ มีดังนี้
(๑) กุฏีเจ้าอาวาสกว้าง ๑๓.๒๙ เมตร ยาว ๑๒.๐๘ เมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑ หลัง
- กุฏีสงฆ์ กว้าง ๔.๐๔ เมตร ยาว ๔.๐๔ เมตร ๗ หลังๆ ละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
- กุฏีสงฆ์กว้าง ๔ เมตร ยาว ๔ เมตร จำนวน ๑ หลังค่าก่อสร้าง
๒๕๐,๐๐๐ บาท
- กุฏีสงฆ์ไม้ กว้าง ๖.๑๓ ยาว ๖.๘๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง ค่าก่อสร้าง

๕๐,๐๐๐ บาท
(๒) ศาลาการเปรียญเอนกประสงค์ กว้าง ๒๑.๓๕ เมตร ยาว ๔๓.๓๐ เมตร
ค่าก่อสร้าง ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑ หลัง
(๓) อุโบสถ กว้าง ๗.๘๑ เมตร ยาว ๒๒.๖๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง ค่า
ก่อสร้าง ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(๔) โรงครัว กว้าง ๑๕.๗๘ เมตร ยาว ๒๖.๘๕ เมตร ค่าก่อสร้าง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑ หลัง
(๕) หอระฆัง กว้าง ๔.๙๐ ยาว ๔.๙๐ เมตร ค่าก่อสร้าง ๓๕๐,๐๐๐ บาท
จำนวน ๑ หลัง
(๖) ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ๑๒ สิงหามหาราชินี กว้าง ๖.๑๔ เมตร ยาว ๙.๑๔
เมตร ค่าก่อสร้าง ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑ หลัง
(๗) ห้องสุขา จำนวน ๓๕ ห้อง ค่าก่อสร้าง ๕๐๐,๐๐๐ บาท
ประวัติเจ้าอาวาสที่เคยปกครองวัดสันติวัน มีดังนี้
พระครูสันติจันทคุณ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสันติวัน รูปปัจจุบัน