วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2551

ฝากให้อาจารย์

ขอฝากคลิปนี้ให้โยมอาจารย์เพื่อคลายความเครียดนะจารย์ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เรียกว่า สาราณิยธรรม มี ๖ อย่าง
๑.เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลังคือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยกายมีพยาบาลภิกษุไข้ เป็นต้น ด้วยจิตเมตตา.
๒.เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลังคือช่วยขวนขวายในกิจธุระของเพื่อนกันด้วยวาจา เช่น กล่าวสั่งสอนเป็นต้น ด้วยจิตเมตตา.
๓.เข้าไปตั้งมโนกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งต่อหน้าและลับหลังคือคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน.
๔. แบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรม ให้แก่เพื่อนภิกษุสามเณร ไม่หวงไว้บริโภคจำเพาะผู้เดียว
๕.รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น.
๖.มีความเห็นร่วมกันกับภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่วิวาทกับใคร ๆ เพราะเหตุมีความเห็นผิดกัน.
ธรรม ๖ อย่างนี้ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกันเป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
อะไรเรียกว่า สาราณิยธรรม ?
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง เรียก สาราณิยธรรม.
สาราณิยธรรม แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร ?
แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง หรือธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
หมายความว่า ภิกษุผู้ประพฤติอยู่ในสาราณิยธรรมนี้ ย่อมเป็นเหตุให้สพรหมจารีรักใคร่ ไม่เกลียดชัง เป็นไปเพื่อความสามัคคีซึ่งกันและกัน
คำว่าเข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาหมายความว่าอย่างไร ?
เข้าไปตั้งกายกรรม หมายความว่า ปฏิบัติต่อกันด้วยกาย
เข้าไปตั้งวจีกรรม ,, ,, ปฏิบัติต่อกันด้วยวาจา
เข้าไปตั้งมโนกรรม ,, ,, ปฏิบัติต่อกันด้วยใจ
ประกอบด้วยเมตตา ,, ,, ประกอบด้วยความรักกัน ฉันมิตร ตั้งความหวังอันดีเพื่อที่จะให้เกิดความสุขอย่างเดียว
คำว่า ทั้งต่อหน้า และลับหลัง หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่า ปฏิบัติให้เหมือนกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ใช่ทำดีแต่ต่อหน้า ทรงสอนให้ทำดี พูดดี คิดดีต่อกันทั้งในที่ต่อหน้า ทั้งในที่ลับหลัง เสมอไปด้วยจิตเมตตา
คำว่า ลาภ ได้แก่อะไร และคำว่า ลาภได้มาโดยชอบธรรม คืออะไร ?
คำว่าลาภ ได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ตลอดถึงเครื่องใช้สอยต่าง ๆ
คำว่าลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม คือ ปัจจัย ๔ และเครื่องใช้สอยที่ได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม
คำว่า แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยทางที่ชอบ คืออะไร ?
คือ มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เฉลี่ยลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม คือ ปัจจัย ๔ และเครื่องใช้สอยที่ได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ให้ผู้อื่นบริโภคใช้สอย ตามส่วนที่จะแบ่งปันกันได้ เพื่อเป็นเครื่องผูกไมตรีกันไว้ ตามพระบาลีว่า ททํ มิตตานิ คนถติ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้
คำว่า รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อน หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่ารักษาศีลให้บริสุทธิ์ ตามสมควรแก่เพศให้เป็นสีลสามัญญตา ความเป็นผู้เสมอกันโดยศีล ไม่หย่อนหนัก ไม่ตรึงนัก ปฏิบัติให้เป็นมัชฌิมา พอดี พองามตามกาลสมัย
คำว่า ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น คืออะไร ?
คือ รักษาศีลบริสุทธิ์ประพฤติตนให้สะอาดด้วยศีลแล้ว ก็จะไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ๆ เพราะศีลมีกลิ่นหอมชื่นใจใคร ๆ ก็ชอบคนมีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเป็นที่รักของเพื่อน ๆ ต้องรักษาศีลบริสุทธิ์ประพฤติตนให้สะอาดด้วยศีลแล้ว ก็จะไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ๆ เพราะศีลมีกลิ่นหอมชื่นใจใคร ๆ ก็ชอบคนมีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเป็นที่รักของเพื่อน ๆ
ผู้อยู่ร่วมกันทำอย่างไรเพื่อนจึงจะไม่รังเกียจ ?
ต้องรักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณรอื่น ๆ ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น.ประพฤติตนให้สะอาดด้วยศีลแล้ว ก็จะไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ๆ เพราะศีลมีกลิ่นหอมชื่นใจใคร ๆ ก็ชอบคนมีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเป็นที่รักของเพื่อน ๆ
คำว่า มีความเห็นร่วมกัน หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่า มีความเห็นถูกร่วมกันเป็นทิฏฐิสามัญญตา มีความเสมอกันด้วยศีล ไม่มีทิฏฐิขัดแย้งไปในทางผิดจนเป็นเหตุทะเลาะวิวาทกัน แตกความสามัคคี
คนที่อยู่ร่วมหมู่เดียวกันจะต้องมีความเห็นร่วมกัน เพราะเหตุไร ?
คนที่อยู่ร่วมหมู่เดียวกันจะต้องมีความเห็นร่วมกัน เป็น ทิฏฐิสามัญญตา มีความเสมอกันด้วยศีล เพราะถ้ามีทิฏฐิขัดแย้ง จะเป็นเหตุทะเลาะวิวาทกันแตกความสามัคคีกัน
อยู่ให้เขาสบายใจ ไปให้เขาคิดถึง จะต้องปฏิบัติอย่างไร ?
ต้องปฏิบัติตามธรรม คือ สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
สาราณิยธรรมทั้ง ๖ ข้อไหนเป็นสำคัญ เพราะเหตุใด ?
ข้อ ๖ สำคัญ
เพราะการมีความเห็นตรงกันนั้น ทำให้เป็นที่รักและเคารพของกันและกัน เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้การงานที่ร่วมกันทำบรรลุผล
ธรรมะอะไร ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ?
ธรรม คือ สาราณิยธรรม ๖ อย่าง
ธรรม คือ สาราณิยธรรม ๖ อย่าง มีอานิสงส์ อย่างไร ?
มีอานิสงส์ คือ ทำผู้ประพฤติให้เป็นที่รักที่เคารพของผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่วิวาทกันและกัน เป็นไปเพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2551

องค์แห่งภิกษุผู้บวชใหม่ ๕ อย่าง




องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ อย่าง
๑. สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามทำตามข้อที่พระ พุทธเจ้าอนุญาต.
๒. สำรวมอินทรีย์ คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ความยินดี ยิน ร้ายครอบงำได้ ในเวลาที่เห็นรูปด้วย นัยน์ตาเป็นต้น.
๓. ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา.
๔. อยู่ในเสนาสนะอันสงัด.
๕. มีความเห็นชอบ.
ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่างนี้ ฯ

อะไรเรียกว่า องค์แห่งภิกษุใหม่ ?
ข้อปฏิบัติแห่งนวกภิกษุ หรือภิกษุผู้บวชใหม่ ยังไม่เกิน ๕ พรรษาเรียกว่า องค์แห่งภิกษุใหม่
่องค์แห่งภิกษุใหม่ หมายความว่าอย่างไร เหตุไรภิกษุใหม่จึงจำเป็นจะต้องมี ?
หมายความว่า ภิกษุใหม่ ต้องปฏิบัติตามคุณธรรมเหล่านี้โดยเคร่งครัด
เพราะตนละเพศฆราวาสมาบวชใหม่ ๆ ถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้ไว้ปฏิบัติก็ย่อมจะเจริญในพระศาสนา ถ้าไม่มีคุณธรรมเหล่านี้ไว้เป็นหลักปฏิบัติก็ย่อมไม่เจริญในพระศาสนา อาจจะต้องเคลื่อนจากพระศาสนา
สำรวมในพระปาติโมกข์ คือ อะไร หมายความว่าอย่างไร ?
คือ สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าอนุญาต
หมายความว่า ปฏิบัติตามสิกขาบทในพระปาติโมกข์ อันเป็นกฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้สำหรับพระภิกษุซึ่งมีอยู่ ๒๒๗ สิกขาบท
เพราะเหตุไร จึงให้ภิกษุใหม่สำรวมในพระปาติโมกข์ ?
เพราะภิกษุใหม่ละเพศฆราวาสมาบวช ความเป็นฆราวาสยังไม่หมดไปมีใจหวนคำนึงถึงบ้านของตนถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้ไว้ปฏิบัติก็ย่อมจะเจริญในพระศาสนา ถ้าไม่มีคุณธรรมเหล่านี้ไว้เป็นหลักปฏิบัติก็ย่อมไม่เจริญในพระศาสนา อาจจะต้องเคลื่อนจากพระศาสนา คือ ลาสิกขาออกไปก็ได้
สำรวมอินทรีย์ คืออะไร หมายความว่าอย่างไร ?
คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ความยินดี ยินร้ายครอบงำได้ ในเวลาที่ เห็นรูปด้วยนัยน์ตาเป็นต้น.
หมายความว่า มีสติระลึกรู้ทัน ไม่ให้เกิดความยินดี ยินร้ายในขณะตาเห็นรูป หูฟังได้เสียง จมูกได้สูดกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสิ่งที่ถูกต้องกายได้ ใจ ได้รู้ธรรมมารมณ์ คือ เรื่องต่าง ๆ
มีความจำเป็นอย่างไร จึงให้ภิกษุใหม่สำรวมในอินทรีย์ ๖ ?
เพราะอินทรีย์ ๖ เป็นทางเกิดแห่งความยินดี ยินร้าย ถ้าไม่สำรวมแล้วความโทมนัสย่อมได้ช่องเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ประพฤติชั่วเสียหาย
ความสำรวมในพระปาติโมกข์และความสำรวมอินทรีย์ดีอย่างไร ?
ความสำรวมในพระปาติโมกข์ เป็นไปเพื่อความระเบียบเรียบร้อย ควรแก่การกราบไหว้และเป็นนาบุญของชาวโลก
ความสำรวมอินทรีย์ เป็นเครื่องควบคุมจิตให้สงบเป็นสมาธิ และเป็นอุปการะในการสำรวมในพระปาติโมกข์ คือสนับสนุนศีลสิกขาให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น
ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา คืออย่างไร ?
คือ การมีความสำรวมกาย วาจา มีสมณสัญญา ว่า เพศภิกษุเป็นเพศที่สูง เป็นที่เคารพบูชาของคฤหัสถ์ ถ้าภิกษุยังเป็นคนที่เอิกเกริกเฮฮา ก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชา เพราะกิริยาเช่นนั้นไม่แตกต่างอะไรกับคฤหัสถ์ ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต
เพราะอะไรจึงไม่ให้ภิกษุใหม่เป็นคนเอิกเกริกเฮฮา ?
เพราะกิริยาเช่นนั้น ไม่แตกต่างอะไรกับคฤหัสถ์ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต ไม่ใช่กิริยาของสมณะผู้สงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย กลับทำกิเลสราคะให้มากขึ้น เพิ่มความน่ารังเกียจให้มากขึ้น ไม่น่าเคารพกราบไหว้บูชา จึงไม่ให้ภิกษุใหม่เป็นคนเอิกเกริกเฮฮา
อยู่ในเสนาสนะอันสงัด หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่า ผู้บวชในพระพุทธศาสนานี้ มีพระพุทธานุญาตให้อยู่โคนไม้ในป่าที่สงัด ไกลจากชุมนุมชน เพื่อจะได้เจริญสมณธรรม คือ ทำใจให้สงบ สงัด จากกิเลสอันเป็นจุดของการบวช (ในปัจจุบันภิกษุอยู่ในอาราม ก็ควรที่จะหาสถานที่บางแห่งภายในวัดเป็นที่สงบสงัด พอจะเป็นที่เจริญสมณธรรมได้)
เพราะเหตุไร จึงให้ภิกษุใหม่ตั้งอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ?
เพราะการคลุกคลีกับหมู่เป็นข้าศึกแก่วิเวก(ความสงัด) เป็นที่ตั้งแห่งความฟุ้งซ่าน และไม่สะดวกแก่การศึกษา มีความเห็นชอบ หมายความว่าอย่างไร ?
หมายความว่า เห็นถูกต้องตามคลองธรรม เช่น เห็นว่า บาปมี บุญมี บิดามีคุณ มารดามีคุณ ทำเหตุดี ได้ผลดี ทำเหตุชั่วได้ผลชั่ว เป็นต้น
เห็นอย่างไร ชื่อว่า เห็นชอบ ?
เห็นถูกต้องตามคลองธรรม เช่น เห็นว่า บาปมี บุญมี บิดามีคุณ มารดามีคุณ ทำเหตุดี ได้ผลดี ทำเหตุชั่วได้ผลชั่ว เป็นต้น
เพราะเหตุไร จึงให้ภิกษุใหม่ตั้งอยู่ในความเห็นชอบ ?
เพราะเมื่อมีความเห็นชอบดังนี้ ก็ย่อมมีใจฝักใฝ่แต่ในความดี เป็นเหตุแห่งการประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามธรรมวินัย.
เพราะเหตุไร ภิกษุใหม่จึงต้องตั้งอยู่ในองค์ ๕ ?
เพราะภิกษุใหม่ยังไม่รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัยดี และยังเป็นผู้ไม่มั่นคง ถ้าไม่ตั้งอยู่ในองค์ ๕ อย่างนี้ อย่างเคร่งครัดแล้วจะเป็นภิกษุอยู่ไม่ได้ หรือเป็นอยู่ได้ ก็ไม่ใช่ภิกษุที่ดี อันเป็นศรีของพระพุทธศาสนา.
ภิกษุเก่าไม่ต้องตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้หรืออย่างไร ?ท่านไม่กล่าวไว้เพราะเหตุไร ?
ต้องตั้งอยู่ในองค์ ๕ เหมือนกัน
แต่ที่ไม่กล่าวถึง เพราะภิกษุเก่าท่านได้ผ่านการเป็นภิกษุใหม่มาแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ได้กล่าวถึงอีก.

เรื่องตลก

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551

กฏแห่งกรรม

มรรคมีองค์ ๘
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔.
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ
ดำริจะออกจากกาม ๑.
ดำริในอันไม่พยาบาท ๑.
ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑.
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔.
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบคือเว้นจากกายทุจริต ๓
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด.
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน.
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐาน ๔.
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔.
ในองค์มรรค ทั้ง ๘ นั้น สงเคราะห์เข้าในสิกขา ๓ ได้อย่างไรบ้าง ?
- เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าในปัญญาสิกขา
- วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เข้าใน สีลสิกขา
- เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ สงเคราะห์เข้าในจิตตสิกขา
คำว่า มรรค แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร ?
แปลว่า หนทาง
หมายความว่า ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์
เพราะเหตุไร จึงชื่อว่ามรรค มีเท่าไร อะไรบ้าง ?
เพราะเป็นวิธีที่จะให้บุคคลดำเนินไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งที่สาธุชนปรารถนายิ่งนัก มี ๘ คือ ๑.สัมมาทิฎฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
จงให้ความหมายของมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดมาดู ?
สัมมาทิฏฐิ หมายถึง เห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔
สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ คือ
ดำริออกจากกาม
ดำริในความไม่พยาบาท
ดำริในการไม่เบียดเบียน
สัมมาวาจา หมายถึง เจรจาชอบ คือ เว้นจากวจีทุจริต ๔
สัมมากัมมันตะ หมายถึง ทำการงานชอบ คือ เว้นจากกาย ทุจริต ๓
สัมมาอาชีวะ หมายถึง เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากการเลี้ยงชีวิตโดย ทางที่ผิด
สัมมาวายามะ หมายถึง เพียรชอบ คือ เพียรในที่ ๔ สถาน เช่น เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้น เป็นต้น
สัมมาสติ หมายถึง ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอารมณ์
สัมมาสมาธิ หมายถึง ตั้งใจชอบ คือการเจริญฌาน ๔
ในธรรมวิภาคท่านกล่าวอะไรเป็นตัวมรรค และอะไรเป็นองค์มรรค ?
ท่านกล่าวปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ให้ถึงความดับทุกข์ ว่าเป็นตัวมรรค
ท่านกล่าวปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ ว่าเป็นองค์มรรค
มรรค ๘ นั้น เป็นโลกิยะหรือโลกุตระ รู้ได้อย่างไร ?
เป็นได้ทั้งโลกิยะและโลกุตระ
รู้ได้ด้วยองค์มรรค ๘ เป็นสังขตธรรม เพราะสังขตธรรมท่านกำหนดไว้ว่า ได้แก่มรรค ๔ ผล ๓ ข้างต้น คือ ตั้งแต่อรหัตมรรคลงมายังเป็นธรรม ยังมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่
ส่วนอรหัตผลเป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นโลกุตตระ
มรรคนั้นจะพึงกำจัดสังโยชน์ได้ด้วยวิธีเช่นไร ?
ด้วยวิธีกำหนดรู้ทุกขสัจ ละสมุทัยสัจ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ และทำมรรคสัจ ให้เกิดขึ้น
มรรค ๘ กล่าวว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไร ทรงตรัสสอนใครเป็นครั้งแรก ?
เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นท่ามกลาง ไม่หย่อนนักไม่ตึงนัก เพราะไม่เข้าใกล้ส่วนผิด อันลามก ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค
ตรัสสอนแก่ พระภิกษุเบญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก
จงจัดมรรค ๘ ลงในวิชชา และจรณะ มาดู ?
สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ นี้ จัดลงในวิชชา
สัมมาวาจาตลอดถึงสัมมาสมาธิ ทั้ง ๖ นี้จัดลงในจรณะ
อะไรเป็นตัวมรรค ?
ปัญญาอันเห็นชอบ ว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ให้ถึงความดับทุกข์ เป็นตัวมรรค
อะไรเป็นองค์แห่งมรรค ?
ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทำความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ เป็นองค์แห่งมรรค
สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค กับ ในอริยสัจ ๔ ต่างกันอย่างไร ?
ต่างกัน คือ
สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค เป็นดวงตา คือ เครื่องเห็น
สัมมาทิฏฐิ ในอริยสัจ ๔ เป็นธรรม คือ สิ่งที่ถูกเห็น
ผู้ประสงค์ ความสงบสุข จะเดินทางสายไหน จึงจะประสบดังประสงค์ ?
ต้องเดินทางมัชฌิมาปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
ธรรมที่ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดนั้น คืออะไร ?
ธรรมที่ไพเราะในเบื้องต้น คือ ศีล
ธรรมที่ไพเราะในท่ามกลาง คือ สมาธิ
ธรรมที่ไพเราะในที่สุด คือ ปัญญา
หากปฏิบัติมรรค ๘ เพียงข้อใดข้อหนึ่งให้สมบูรณ์แล้วจะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ เพราะเหตุไร ?
ไม่ได้ เพราะในองค์มรรคเหล่านั้น ย่อมต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะว่ามรรคอันหนึ่ง ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแก่องค์มรรคอันอื่นต่อไปตามลำดับ.
สังขตธรรมและอสังขตธรรม มีธรรมอะไรเป็นยอดเยี่ยม ?
สังขตธรรม มีมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นยอดเยี่ยม
อสังขตธรรม มีวิราคธรรม คือ พระนิพพานเป็นยอดเยี่ยม
มรรค คือ อะไร ทำไมจึงชื่อว่าอริยมรรค ?
มรรค คือ หนทาง เป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางอันบุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพานแสวงหา
ที่ชื่อว่า อริยมรรค เพราะเป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางไกลจากข้าศึกคือกิเลส หรือ เป็นทางที่ทำบุคคลให้เป็นอริยะ
ธรรม ๘ ประการ มี สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีชื่อเรียกว่าอะไรได้บ้าง ?
ธรรม ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีชื่อเรียกว่า
มรรค เพราะเป็นทางอันบุคคล ผู้ปรารถนาพระนิพพานพึงแสวงหา
อัฎฐังคิกมรรค เพราะเป็นทางอันประกอบด้วยองค์ ๘
อริยาษฎางคิกมรรค เพราะเป็นทางอันประกอบ ด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐหรือไกลจากข้าศึก คือ กิเลส
พรหมยาน เพราะเป็นยานเครื่องไปอันประเสริฐ
ธรรมยาน เพราะเป็นธรรมเครื่องไปดุจยาน
อนุตรสังคามวิชัย เพราะเป็นผู้ชนะสงคราม ไม่มีอื่นจะยิ่งไปกว่า
มัชฌิมาปฏิปทา เพราะเป็นข้อปฏิบัติเป็นกลาง
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะเป็นข้อปฏิบัติ เป็นเครื่องดำเนินถึงความดับทุกข์

พระคุณแม่
แม่ตื่นก่อนนอนที่หลังระวังลูก จิตท่านผูกเพียรระวังตั้งรักษา
ยุงจะกินริ้นจะกัดก็พัดพา บางเวลาไม่ได้หลับระงับเลย
แม่ป้องริ้นป้องไรมิให้ผ่าน แม่สงสารห่วงลูกยากว่าทรัพย์สิน
แม่เห่กล่อมนิทราเป็นอาจิณ แม่ไม่ผินแม่ไม่ผันทุกวันมา
ยามลูกสุขแม่สุขสมอารมณ์ชื่น ยามลูกขื่นแม่ขมระทมกว่า
ยามลูกไข้แม่นอนร้อนอุรา ยามลูกยาอัปโชคแม่โศกใจ
ยามลูกหิวแม่หิวกว่าน้ำตาร่วง แม่เป็นห่วงดิ้นรนหาเอามาให้
แม้แม่อดหมดข้าวปลาไม่ว่าอะไร แม่สละได้ลูกอิ่มแปล้แม่ทนเอา
ใครไหนเล่าเฝ้าอบรมบ่มนิสัย แม้เติบใหญ่ไม่ท้อถอยคอยนั่งเฝ้า
พระคุณเลิศลูกโศกช่วยบรรเทา ใครไหนเล่ารักมั่นแท้แม่ฉันเอง
รักใดเล่าจะแน่เท่าแม่รัก ผูกสมัครรักลูกมั่นไม่หวั่นไหว
ห่วงใดเล่าเท่าห่วงดังดวงใจ ที่แม่ให้กับลูกอยู่ทุกครา
ยามลูกขื่นแม่ขมตรมหลายเท่า ยามลูกเศร้าแม่โศกวิโยคกว่า
ยามลูกหายแม่ห่วงคอยดวงตา ยามลูกมาแม่ลดหมดห่วงใย
รักของใครไม่เท่าศักดิ์รักของแม่ รักแน่แท้แม่รักอยู่ไม่รู้สร่าง
ศัตรูร้ายก็ไม่กายมากั้นกาง ถึงรักนางรักนายก็ไม่เกิน
แม้รักยศรักศักดิ์อัครฐาน รักการงานสารพันรักสรรเสริญ
รักสนุกทุกสถานสำราญเทอญ รักไม่เกินรักของแม่รักแท้เอย
พระคุณแม่กว้างกว่าขอบฟ้ากว้าง แม่สรรสร้างอนาคตลูกสดใส
อ้อมอกดังโล่ห์ทองคุ้มผองภัย เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกตน
มือแม่ด้านหน้าแม่ดำผิวคล้ำไหม้ หยาดน้ำใจใสสะอาดยิ่งหยาดฝน
เหงื่อแม่หลั่งหนักแม่เอาเบาแม่ทน แม่ไม่บ่นแม่ไม่เบื่อเพื่อใครกัน
แม่รักลูกปลูกฝังทางศึกษา อีกจรรยาแม่อบรมบ่มนิสัย
แม่รักลูกปกป้องคุ้มผองภัย ลูกรักแม่ก็จงได้กตัญญู
แม่คำนี้มีค่ากว่าทุกสิ่ง รักลูกจริงยิ่งชีวิตคิดสร้างสรรค์
เอาพื้นดินน้ำฟ้ามารวมกัน มิทันเท่าเทียมแม่แต่อย่างใด
ถึงสังขารราญแหลกแม่แลกได้ หวังจะให้ลูกตนพ้นภัยผอง
แม้สูญสิ้นดินฟ้าธารานอง ลูกขัดข้องแม่ช่วยได้ปลอดภัยเอย
พระคุณแม่กว้างกว่ามหาสมุทร พระคุณแม่สูงสุดมหาศาล
พระคุณแม่เลิศฟ้าสุทธาธาร ขอกราบกรานพระคุณแม่อย่างแท้จริง

พระคุณพ่อ
พระคุณพ่อก่อเกิดกำเนิดบุตร พระคุณพ่อสูงสุดยิ่งภูผา
พระครูพ่อเจือจุนอุ่นอุรา พระคุณพ่อยิ่งฟ้าดารากร
พระคุณพ่อก่อลูกมาพบโลก พระคุณพ่อดับโศกเมื่อทุกข์ร้อน
พระคุณพ่อแผ่เผื่อเอื้ออาทร พระคุณพ่อสั่งสอนให้ลูกดี
พระคุณพ่อเย็นเกล้าทุกเช้าค่ำ พระคุณพ่อเลิศล้ำสุรีย์ศรี
พระคุณพ่อหาใดเปรียบไม่มี ลองดูสินึกเทียบเปรียบแทนคุณ
จะเทียบดินดินก็ด้อยน้อยนักหน่า จะเทียบฟ้าฟ้าก็ทรามต่ำสถุล
จะเทียบน้ำอีกทั้งลมไม่สมดุล ปิตุคุณใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งใด
ถึงจะเมาเช้าเย็นก็เป็นพ่อ จะพูดจาแอ้อ้อก็พ่อฉัน
จะติดคุกติดตารางทางพนัน ก็ไม่พ้นพ่อฉันอยู่นั่นอง
อันบุคคลผู้ใดใครลืมพ่อ ผู้นั้นก็เลวทรามต่ำกว่าหมา
เพราะว่าพ่อให้กำเนิดเกิดกายา ไม่มีพ่อแล้วเราจะเกิดมาได้อย่างไร
ยามเย็นค่ำเคยพูดจ้อกันพ่อลูก เคยปรับทุกข์ลูกพ่อขอขนม
พ่อรักลูกปลูกฝังหวังชื่นชม พ่อจึงสมสุภาษิตมิตรในเรือน
พระคุณพ่อเลิศฟ้ามหาสมุทร พระคุณพ่อสูงสุดมหาศาล
พระคุณพ่อเลิศฟ้าสุทธาธาร ขอกราบกรานพระคุณพ่ออย่างแท้จริง






วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

ธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง


ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลก ๒ อย่าง
๑. หิริ ความละอายแก่ใจ.
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัว.

อะไร เรียกว่าธรรมคุ้มครองโลก หรือ ธรรมเป็นโลกบาล ?
ธรรมคุ้มครองมนุษย์โลก ให้คงเป็นสังคมมนุษย์อยู่ได้
ธรรมคุ้มครองโลกมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
มี ๒ อย่าง คือ
๑. หริ ความละอายแก่ใจ
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต
อะไรเรียกว่า หิริ ?
ความละอายแก่ใจในขณะกำลังจะทำชั่ว ทั้งทางกาย วาจา ใจ รู้สึกขยะแขยงใจไม่กล้าทำความชั่ว เรียกว่า หิริ
อะไรเรียกว่า โอตตัปปะ ?
ความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต คิดเห็นภัยที่เกิดจากการทำความชั่ว เรียกว่า โอตตัปปะ
ทำไม ท่านจึงเรียกว่า ธรรมสำหรับคุ้มครองโลก ?
เพราะย่อมคุ้มครองโลกให้อยู่กันด้วยความรัก สามัคคี ไม่มีความอาฆาตพยาบาทปองร้ายกันและกัน ทำให้การเป็นอยู่ร่วมกัน มีความสงบสุขร่มเย็น
ธรรมเป็นโลกบาล (ธรรมคุ้มครองโลก) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร ?
มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ โลกปาลธมฺโม ”
โลกตั้งอยู่ได้เพราะใครเป็นผู้คุ้มครอง ?
เพราะมีธรรมเป็นผู้คุ้มครอง คือ หิริ โอตตัปปะ เป็นผู้คุ้มครอง
คำว่า โลก นั้นหมายเอาอะไร ?
หมายเอาหมู่สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินทั้งหมดไม่ได้หมายเอาทวีปหลาย ๆ ทวีปมารวมกัน
หิริ โอตตัปปะ แปลว่าอะไร ? ต่างกันอย่างไร ?
หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ
โอตตัปปะ แปลว่า ความเกรงกลัว
ต่างกัน คือ
หิริ ได้แก่ ความละอายแก่ใจ ตะขิดตะขวงใจต่อความชั่วของตนเอง ในการที่จะประพฤติทุจริต
โอตตัปปะ ได้แก่ความหวั่นกลัวความไม่กล้าทำผิดเพราะคำนึงถึงผลแห่งบาปด้วยตนเอง คือ เกิดความคิดกลัวขึ้น ในสันดาน ของตนเอง.
ถ้าขาดหิริ และ โอตตัปปะแล้ว โลกจะเป็นอย่างไร ?
ถ้าคนเราไม่มีหิริ และ โอตตัปปะแล้ว ต่างคนต่างก็จะเบียดเบียนกันและกัน ไม่วางใจกันในที่ทุกสถาน จะอยู่กันอย่างไม่เป็นสุข.
หิริ โอตตัปปะ มีคุณอย่างไร ?
มีคุณหลายสถาน ให้มีความเกลียดชังต่อบาปทุจริตสะดุ้งกลัวต่อผลอกุศลกรรม ไม่กล้าทำความชั่ว ได้รับความสุขสำราญทั่วกัน ให้เว้นทุจริต ประกอบสุจริต มีเมตตาอารีต่อกัน ควบคุมกันอยู่โดยเป็นหมวดหมู่ ต่างวางใจในชีวิตและทรัพย์ของกันและกัน
หิริ และ โอตตัปปะ มีลักษณะและอุปมาต่างกันอย่างไร ?
มีลักษณะและอุปมาต่างกัน ดังนี้
- หิริ มีลักษณะ สยะแสยงต่อการทำบาป
อุปมาเหมือน บุคคลผู้รักสวยรักงาม เกลียดชังสิ่งโสโครก ฉะนั้น
- โอตตัปปะ มีลักษณะ สะดุ้งกลัวต่อการทำบาป
อุปมาเหมือน บุคคลผู้ซึ่งหวาดกลัวต่ออสรพิษ แม้ตัว เล็กก็ไม่กล้าเข้าใกล้
ธรรมที่ทำลายโลก คืออะไร ?
ธรรมที่ทำลายโลก
คือ อหิริกะ ความไม่มีหิริ ความไม่ละอาย
อโนตตัปปะ ความไม่มีโอตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป
ธรรม คือ หิริ และ โอตตัปปะ เป็นธรรมคุ้มครองโลกอย่างไร ?
ธรรม ๒ ประการนี้ มีประจำใจย่อมประพฤติสุจริตทั้งต่อหน้าและลับหลัง เมื่อมนุษย์ทำแต่ความดี ย่อมมีแต่ความเจริญ ความเสื่อมไม่มี เมื่อมนุษย์เจริญ พิภพก็เจริญขึ้นตาม
ท่านจึงเรียกธรรม ๒ ประการนี้ว่าเป็นเครื่องอภิบาล คือ คุ้มครองโลก ทั้งภายนอก (พิภพซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย) และภายใน (หมู่สัตว์)
หิริ โอตตัปปะ ชื่อว่าเป็นโลกบาล คุ้มครองโลกอย่างไร ?
คือ ธรรมทั้ง หิริ โอตตัปปะ เป็นโลกบาล คุ้มครองโลก คือ ป้องกันหมู่สัตว์ให้ดำรงอยู่โดยสันติสุขตามวิสัยของสัตว์โลก
ธรรม คือ หิริ โอตตัปปะชื่อว่าสุกกธรรมและเทวธรรม เพราะเหตุไร ?
ที่ชื่อว่าสุกกธรรม เพราะเป็นธรรมฝ่ายกุศลอันเปรียบด้วยสีขาวและเป็นไปเพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิต
ที่ชื่อว่าเทวธรรม เพราะเป็นธรรมทำบุคคลให้เป็นเทวดาหรือให้เป็นผู้รุ่งเรือง
ธรรมอะไร เป็นเครื่องปกครอง หรือรักษาน้ำใจคน ?
ธรรม คือหิริ และโอตตัปปะ เป็นเครื่องปกครองคนและรักษาน้ำใจคน
หิริ และ โอตตัปปะ เป็นเครื่องรักษาโลกอย่างไร ?
เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งห้ามปรามไม่ให้กล้าทำความชั่วลงได้ แม้มีโอกาสที่จะกระทำ เมื่อเข้าใจว่าการที่จะทำ เป็นความชั่วแล้ว ก็รู้สึกละอาย หวาดหวั่นใจไม่อาจทำลง เพราะถือหิริ โอตตัปปะเป็นใหญ่ โลกจึงมีความสุขและตั้งอยู่ยั่งยืนสืบมา
หิริ โอตตัปปะ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร ?
หิริ โอตตัปปะ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทวธรรม แปลว่า ธรรมของเทพหรือเทวดา

วุฒิธรรม คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ


จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฒิ (คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ) ๔ อย่าง
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบ ด้วยกาย
วาจา ใจ ที่ เรียกว่า สัตบุรุษ.
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ.
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดี หรือชั่ว โดย
อุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม
ซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว.

อะไร เรียกว่า วุฒิ มีกี่อย่าง ?
ธรรมเป็นเหตุแห่งความเจริญ หรือ เป็นเครื่องเพิ่มพูนความเจริญ เรียก วุฑฒิ
มี ๔ อย่าง
วุฒิ ๔ อย่าง คือ อะไรบ้าง ?
วุฒิ ๔ อย่าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบสัตบุรุษ ผู้ประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือที่ชั่ว ด้วยอุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้ตรองเห็นแล้ว
เป็นเหตุผลเนื่องกันอย่างไร ?
เป็นเหตุเป็นผลเนื่องกัน คือ
๑. คบสัตบุรุษ
๒. เป็นเหตุให้ได้ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพแล้ว
๓. เป็นเหตุให้ได้ใช้ความตริตรองหาเหตุผล ให้รู้จักผิดและถูกโดยถ่องแท้ คนที่รู้จักผิดและถูกได้ก็เพราะอาศัยโยนิโสมนสิการซึ่งเป็นผลสำเร็จมาแต่การฟังคำสอน
๔. ต่อจากนั้นก็จักเป็นเหตุให้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว
เมื่อคบสัตบุรุษแล้วจะได้ผลดีอย่างไร ?
ย่อมได้ฟังคำแนะนำในทางที่ดี เมื่อได้ฟังแล้ว จดจำใส่ใจ เพ่งพิจารณาให้เข้าใจชัด ปฏิบัติให้เหมาะสม เมื่อพร้อมด้วยธรรมทั้ง ๔ นี้ ย่อมมีแต่ความเจริญ
สัตบุรุษ หมายถึงใคร ?
หมายถึง คนดี มีความประพฤติดี มีกาย วาจา ใจ สงบมีจิตมั่นคง ประกอบด้วยธรรม ของสัตบุรุษ มีรู้จักเหตุ รู้จักผล เป็นต้น
ทำอย่างไร เรียกว่าคบสัตบุรุษ ?
คือ การเข้าไปมาหาสู่ และ ทำความสนิทสนมกับท่าน (สัตบุรุษ ผู้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ) โดยควรแก่ฐานะนั้น ๆ เรียกว่าคบสัตบุรุษ ฯ
อะไร ชื่อว่าสัทธรรม ?
คำสั่งสอนของสัตบุรุษ ชื่อว่าสัทธรรม
อะไรชื่อว่าสัทธัมมัสสวนะ ?
การเงี่ยหูรับเสียงธรรม ตั้งใจฟังคำแนะนำ สั่งสอน ตักเตือนของท่านสัตบุรุษด้วยความเคารพ คือ ไม่ส่งใจไปอื่น กำหนดจดจำ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติตาม ชื่อว่าสัทธัมมัสสวนะ
ฟังเช่นไร ชื่อว่าฟังโดยเคารพ ?
ตั้งใจฟังด้วยมีสติ คอยกำหนดตาม ไม่ปล่อยให้อารมณ์ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ คอยประคองใจให้ดำเนินไปตามกระแสความที่ท่านสอนนั้นเท่านั้น ชื่อว่าฟังโดยเคารพ
ตริตรองเช่นไร ชื่อว่าตริตรองโดยอุบายที่ชอบ ?
ตริตรองโดยใช้วิจารณปัญญาพิจารณาให้รู้จักนัยและลักษณะของธรรมนั้น ๆ และไตร่ตรองดูว่าธรรมนั้นควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลแก่ตน เมื่อทราบชัดแล้ว เลือกฟั้นผ่อนผันปฏิบัติให้เหมาะสมกับกาละเทศะ ภูมิ ฐานะของตน ชื่อว่าตริตรองโดยอุบายที่ชอบ
โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือที่ชั่ว ด้วยอุบายที่ชอบ หมายถึงอะไร ?
หมายถึงความคิดนึกตรึกตรองพิจารณาให้ถ่องแท้ให้แจ่มแจ้ง ประจักษ์ถึงเหตุเกิดของสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้ม ได้สัมผัส ได้รู้ ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.
ประพฤติเช่นไร เรียกว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ?
ประพฤติดี ปฏิบัติให้พอควรแก่ความดี กล่าวคือ ต้อง ปฏิบัติด้วยกายวาจาใจให้สมควรแก่ตน คือ ต้องประพฤติ ปฏิบัติให้พอควรแก่ฐานะ ภาวะ เพศ วัย และหน้าที่ และให้เหมาะแก่การและสถานที่ ชื่อว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
จงสงเคราะห์วุฒิ ๔ ลงในไตรสิกขา ?
ข้อ ๑ และข้อ ๔ (สัปปุริสสังเสวะ และธัมมานุธัมมปฏิบัติ) ลงในสีลสิกขา
ข้อ ๒ และข้อ ๓ (สัทธัมมัสสวนะ และ โยนิโสมนสิการ) ลงในปัญญาสิกขา
บุคคลประพฤติตามวุฒิ ๔ จะให้ผลเป็นอย่างไร ?
บุคคลประพฤติตามวุฑฒิ ๔ โดยลำดับ ความเจริญก็จะเกิดมีแก่บุคคลผู้ประพฤติตามโดยลำดับ