วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551

พระวิทยากร

ตำนานพระพุทธชินราช
พระพุทธชินราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารใหญ่ด้านตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีลักษณะงดงามที่สุด ในบรรดาพระพุทธรูปของประเทศไทย พระพุทธชินราชองค์นี้เป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนทุกชั้นมาตั้งแต่สมัยโบราณจนทุกวันนี้ และเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทรงเคารพบูชามาทุกรัชสมัย
ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ( พญาลิไท ) รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัยได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันนั้นมี ๓ องค์คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา พระพุทธรูปหล่อทั้ง ๓ องค์ มีขนาดต่าง ๆ กัน คือ พระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้ว พระพุทธชินสีห์ หน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว พระศรีศาสดา หน้าตักกว้าง ๔ ศอกคืบ ๖ นิ้ว เมื่อการสร้างพระพุทธรูปสำเร็จบริบูรณ์แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ได้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินราชประดิษฐาน ณ วิหารใหญ่ทิศตะวันตก พระพุทธชินสีห์ประดิษฐาน ณ พระวิหารทิศเหนือ พระศรีศาสดาประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านใต้
แต่ในการหล่อพระพุทธรูปดังกล่าวนั้น เมื่อหล่อเสร็จแล้วมีเศษทองเหลืออยู่ จึงเอามารวมกันหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑ ศอกเศษ องค์ ๑ เรียกนามว่า พระเหลือ กับพระสาวกเป็นพระยืนอีก ๒ องค์ อิฐทีก่อเตาหลอมทองและสุมหุ่นในการหล่อพระ ได้เอามารวมกันก่อเป็นชุกชีตรงที่หล่อพระพุทธรูป สูง ๓ ศอก และปลูกต้นมหาโพธิ์ลงบนชุกชี ๓ ต้น แสดงว่าเป็นพระมหาโพธิ์สถานของพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาทั้ง ๓ องค์ จึงเรียกว่าโพธิ์สามเส้าสืบมา สร้างวิหารน้อยขึ้นในระหว่างต้นมหาโพธิ์หลัง ๑ เชิญพระเหลือและพระสาวกเข้าประดิษฐาน ณ ภายในวิหารนั้น วิหารน้อยหลังนี้จึงนิยมเรียกกันต่อมาว่า วิหารพระเหลือ หรือวิหารหลวงพ่อเหลือ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราช เยื้องไปทางเล็กน้อย
พงศาวดารเหนือได้กล่าวเรื่องการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาเจือนิยายไว้มีใจความว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้โปรดให้สร้างเมืองพิษณุโลกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ตรัสให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีพระมหาธาตุรูปปรางค์สูง ๘ วา และพระวิหารทิศ กับระเบียงรอบพระมหาธาตุทั้ง ๔ ทิศ โปรดให้ช่างชาวชะเลียง ( สวรรคโลก ) เชียงแสน และหริภุญชัย ( ลำพูน ) ร่วมมือกันสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ๓ องค์ สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ ได้เริ่มทำพิธีเททองหล่อเมื่อ ณ วัน พฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๓๑๗ ( พ.ศ.๑๔๙๘ ) เมื่อกะเทาะหุ่นออกแล้ว ทองคงแล่นติดเป็นองค์พระบริบูรณ์เพียง ๒ องค์ ต้องทำพิธีหล่อต่อมาอีก ๓ ครั้ง ก็ยังไม่สำเร็จ ครั้งหลังที่สุด พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกต้องตั้งสัจจาธิษฐาน แล้วทำพิธีเททองหล่อเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๓๑๙ ( พ.ศ.๑๕๐๐ ) จึงสำเร็จเป็นองค์พระบริบูรณ์ ในการหล่อครั้งหลังสุดนี้ปรากฏว่า มีชีปะขาวผู้หนึ่งจะมาแต่ที่ใดไม่มีใครทราบ ได้มาช่วยปั้นหุ่นและเททองหล่อพระด้วย เมื่อเสร็จพิธีหล่อพระแล้ว ปะขาวก็ออกเดินไปเหนือเมือง พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หายตัวไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก ดังนั้นจึงเข้าใจกันว่า ปะขาวผู้นั้นคือเทวดาแปลงตัวมาช่วยหล่อพระพุทธชินราช จึงได้พุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก เลยเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้น ส่วนหมู่บ้านที่ปะขาวไปหายตัวนั้น ก็เลยได้นามภายหลังว่า บ้านปะขาวหาย หรือ ตาปะขาวหาย มาจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: