วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551

กฏแห่งกรรม

มรรคมีองค์ ๘
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔.
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ
ดำริจะออกจากกาม ๑.
ดำริในอันไม่พยาบาท ๑.
ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑.
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔.
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบคือเว้นจากกายทุจริต ๓
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด.
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน.
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐาน ๔.
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔.
ในองค์มรรค ทั้ง ๘ นั้น สงเคราะห์เข้าในสิกขา ๓ ได้อย่างไรบ้าง ?
- เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าในปัญญาสิกขา
- วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เข้าใน สีลสิกขา
- เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ สงเคราะห์เข้าในจิตตสิกขา
คำว่า มรรค แปลว่าอะไร หมายความว่าอย่างไร ?
แปลว่า หนทาง
หมายความว่า ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์
เพราะเหตุไร จึงชื่อว่ามรรค มีเท่าไร อะไรบ้าง ?
เพราะเป็นวิธีที่จะให้บุคคลดำเนินไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งที่สาธุชนปรารถนายิ่งนัก มี ๘ คือ ๑.สัมมาทิฎฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
จงให้ความหมายของมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดมาดู ?
สัมมาทิฏฐิ หมายถึง เห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔
สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ คือ
ดำริออกจากกาม
ดำริในความไม่พยาบาท
ดำริในการไม่เบียดเบียน
สัมมาวาจา หมายถึง เจรจาชอบ คือ เว้นจากวจีทุจริต ๔
สัมมากัมมันตะ หมายถึง ทำการงานชอบ คือ เว้นจากกาย ทุจริต ๓
สัมมาอาชีวะ หมายถึง เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากการเลี้ยงชีวิตโดย ทางที่ผิด
สัมมาวายามะ หมายถึง เพียรชอบ คือ เพียรในที่ ๔ สถาน เช่น เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้น เป็นต้น
สัมมาสติ หมายถึง ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอารมณ์
สัมมาสมาธิ หมายถึง ตั้งใจชอบ คือการเจริญฌาน ๔
ในธรรมวิภาคท่านกล่าวอะไรเป็นตัวมรรค และอะไรเป็นองค์มรรค ?
ท่านกล่าวปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ให้ถึงความดับทุกข์ ว่าเป็นตัวมรรค
ท่านกล่าวปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ ว่าเป็นองค์มรรค
มรรค ๘ นั้น เป็นโลกิยะหรือโลกุตระ รู้ได้อย่างไร ?
เป็นได้ทั้งโลกิยะและโลกุตระ
รู้ได้ด้วยองค์มรรค ๘ เป็นสังขตธรรม เพราะสังขตธรรมท่านกำหนดไว้ว่า ได้แก่มรรค ๔ ผล ๓ ข้างต้น คือ ตั้งแต่อรหัตมรรคลงมายังเป็นธรรม ยังมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่
ส่วนอรหัตผลเป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นโลกุตตระ
มรรคนั้นจะพึงกำจัดสังโยชน์ได้ด้วยวิธีเช่นไร ?
ด้วยวิธีกำหนดรู้ทุกขสัจ ละสมุทัยสัจ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ และทำมรรคสัจ ให้เกิดขึ้น
มรรค ๘ กล่าวว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไร ทรงตรัสสอนใครเป็นครั้งแรก ?
เป็นข้อปฏิบัติอันเป็นท่ามกลาง ไม่หย่อนนักไม่ตึงนัก เพราะไม่เข้าใกล้ส่วนผิด อันลามก ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค
ตรัสสอนแก่ พระภิกษุเบญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก
จงจัดมรรค ๘ ลงในวิชชา และจรณะ มาดู ?
สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ นี้ จัดลงในวิชชา
สัมมาวาจาตลอดถึงสัมมาสมาธิ ทั้ง ๖ นี้จัดลงในจรณะ
อะไรเป็นตัวมรรค ?
ปัญญาอันเห็นชอบ ว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ให้ถึงความดับทุกข์ เป็นตัวมรรค
อะไรเป็นองค์แห่งมรรค ?
ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทำความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ เป็นองค์แห่งมรรค
สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค กับ ในอริยสัจ ๔ ต่างกันอย่างไร ?
ต่างกัน คือ
สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค เป็นดวงตา คือ เครื่องเห็น
สัมมาทิฏฐิ ในอริยสัจ ๔ เป็นธรรม คือ สิ่งที่ถูกเห็น
ผู้ประสงค์ ความสงบสุข จะเดินทางสายไหน จึงจะประสบดังประสงค์ ?
ต้องเดินทางมัชฌิมาปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
ธรรมที่ไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดนั้น คืออะไร ?
ธรรมที่ไพเราะในเบื้องต้น คือ ศีล
ธรรมที่ไพเราะในท่ามกลาง คือ สมาธิ
ธรรมที่ไพเราะในที่สุด คือ ปัญญา
หากปฏิบัติมรรค ๘ เพียงข้อใดข้อหนึ่งให้สมบูรณ์แล้วจะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ เพราะเหตุไร ?
ไม่ได้ เพราะในองค์มรรคเหล่านั้น ย่อมต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะว่ามรรคอันหนึ่ง ๆ ย่อมเป็นปัจจัยแก่องค์มรรคอันอื่นต่อไปตามลำดับ.
สังขตธรรมและอสังขตธรรม มีธรรมอะไรเป็นยอดเยี่ยม ?
สังขตธรรม มีมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นยอดเยี่ยม
อสังขตธรรม มีวิราคธรรม คือ พระนิพพานเป็นยอดเยี่ยม
มรรค คือ อะไร ทำไมจึงชื่อว่าอริยมรรค ?
มรรค คือ หนทาง เป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางอันบุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพานแสวงหา
ที่ชื่อว่า อริยมรรค เพราะเป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางไกลจากข้าศึกคือกิเลส หรือ เป็นทางที่ทำบุคคลให้เป็นอริยะ
ธรรม ๘ ประการ มี สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีชื่อเรียกว่าอะไรได้บ้าง ?
ธรรม ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีชื่อเรียกว่า
มรรค เพราะเป็นทางอันบุคคล ผู้ปรารถนาพระนิพพานพึงแสวงหา
อัฎฐังคิกมรรค เพราะเป็นทางอันประกอบด้วยองค์ ๘
อริยาษฎางคิกมรรค เพราะเป็นทางอันประกอบ ด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐหรือไกลจากข้าศึก คือ กิเลส
พรหมยาน เพราะเป็นยานเครื่องไปอันประเสริฐ
ธรรมยาน เพราะเป็นธรรมเครื่องไปดุจยาน
อนุตรสังคามวิชัย เพราะเป็นผู้ชนะสงคราม ไม่มีอื่นจะยิ่งไปกว่า
มัชฌิมาปฏิปทา เพราะเป็นข้อปฏิบัติเป็นกลาง
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะเป็นข้อปฏิบัติ เป็นเครื่องดำเนินถึงความดับทุกข์

พระคุณแม่
แม่ตื่นก่อนนอนที่หลังระวังลูก จิตท่านผูกเพียรระวังตั้งรักษา
ยุงจะกินริ้นจะกัดก็พัดพา บางเวลาไม่ได้หลับระงับเลย
แม่ป้องริ้นป้องไรมิให้ผ่าน แม่สงสารห่วงลูกยากว่าทรัพย์สิน
แม่เห่กล่อมนิทราเป็นอาจิณ แม่ไม่ผินแม่ไม่ผันทุกวันมา
ยามลูกสุขแม่สุขสมอารมณ์ชื่น ยามลูกขื่นแม่ขมระทมกว่า
ยามลูกไข้แม่นอนร้อนอุรา ยามลูกยาอัปโชคแม่โศกใจ
ยามลูกหิวแม่หิวกว่าน้ำตาร่วง แม่เป็นห่วงดิ้นรนหาเอามาให้
แม้แม่อดหมดข้าวปลาไม่ว่าอะไร แม่สละได้ลูกอิ่มแปล้แม่ทนเอา
ใครไหนเล่าเฝ้าอบรมบ่มนิสัย แม้เติบใหญ่ไม่ท้อถอยคอยนั่งเฝ้า
พระคุณเลิศลูกโศกช่วยบรรเทา ใครไหนเล่ารักมั่นแท้แม่ฉันเอง
รักใดเล่าจะแน่เท่าแม่รัก ผูกสมัครรักลูกมั่นไม่หวั่นไหว
ห่วงใดเล่าเท่าห่วงดังดวงใจ ที่แม่ให้กับลูกอยู่ทุกครา
ยามลูกขื่นแม่ขมตรมหลายเท่า ยามลูกเศร้าแม่โศกวิโยคกว่า
ยามลูกหายแม่ห่วงคอยดวงตา ยามลูกมาแม่ลดหมดห่วงใย
รักของใครไม่เท่าศักดิ์รักของแม่ รักแน่แท้แม่รักอยู่ไม่รู้สร่าง
ศัตรูร้ายก็ไม่กายมากั้นกาง ถึงรักนางรักนายก็ไม่เกิน
แม้รักยศรักศักดิ์อัครฐาน รักการงานสารพันรักสรรเสริญ
รักสนุกทุกสถานสำราญเทอญ รักไม่เกินรักของแม่รักแท้เอย
พระคุณแม่กว้างกว่าขอบฟ้ากว้าง แม่สรรสร้างอนาคตลูกสดใส
อ้อมอกดังโล่ห์ทองคุ้มผองภัย เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกตน
มือแม่ด้านหน้าแม่ดำผิวคล้ำไหม้ หยาดน้ำใจใสสะอาดยิ่งหยาดฝน
เหงื่อแม่หลั่งหนักแม่เอาเบาแม่ทน แม่ไม่บ่นแม่ไม่เบื่อเพื่อใครกัน
แม่รักลูกปลูกฝังทางศึกษา อีกจรรยาแม่อบรมบ่มนิสัย
แม่รักลูกปกป้องคุ้มผองภัย ลูกรักแม่ก็จงได้กตัญญู
แม่คำนี้มีค่ากว่าทุกสิ่ง รักลูกจริงยิ่งชีวิตคิดสร้างสรรค์
เอาพื้นดินน้ำฟ้ามารวมกัน มิทันเท่าเทียมแม่แต่อย่างใด
ถึงสังขารราญแหลกแม่แลกได้ หวังจะให้ลูกตนพ้นภัยผอง
แม้สูญสิ้นดินฟ้าธารานอง ลูกขัดข้องแม่ช่วยได้ปลอดภัยเอย
พระคุณแม่กว้างกว่ามหาสมุทร พระคุณแม่สูงสุดมหาศาล
พระคุณแม่เลิศฟ้าสุทธาธาร ขอกราบกรานพระคุณแม่อย่างแท้จริง

พระคุณพ่อ
พระคุณพ่อก่อเกิดกำเนิดบุตร พระคุณพ่อสูงสุดยิ่งภูผา
พระครูพ่อเจือจุนอุ่นอุรา พระคุณพ่อยิ่งฟ้าดารากร
พระคุณพ่อก่อลูกมาพบโลก พระคุณพ่อดับโศกเมื่อทุกข์ร้อน
พระคุณพ่อแผ่เผื่อเอื้ออาทร พระคุณพ่อสั่งสอนให้ลูกดี
พระคุณพ่อเย็นเกล้าทุกเช้าค่ำ พระคุณพ่อเลิศล้ำสุรีย์ศรี
พระคุณพ่อหาใดเปรียบไม่มี ลองดูสินึกเทียบเปรียบแทนคุณ
จะเทียบดินดินก็ด้อยน้อยนักหน่า จะเทียบฟ้าฟ้าก็ทรามต่ำสถุล
จะเทียบน้ำอีกทั้งลมไม่สมดุล ปิตุคุณใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งใด
ถึงจะเมาเช้าเย็นก็เป็นพ่อ จะพูดจาแอ้อ้อก็พ่อฉัน
จะติดคุกติดตารางทางพนัน ก็ไม่พ้นพ่อฉันอยู่นั่นอง
อันบุคคลผู้ใดใครลืมพ่อ ผู้นั้นก็เลวทรามต่ำกว่าหมา
เพราะว่าพ่อให้กำเนิดเกิดกายา ไม่มีพ่อแล้วเราจะเกิดมาได้อย่างไร
ยามเย็นค่ำเคยพูดจ้อกันพ่อลูก เคยปรับทุกข์ลูกพ่อขอขนม
พ่อรักลูกปลูกฝังหวังชื่นชม พ่อจึงสมสุภาษิตมิตรในเรือน
พระคุณพ่อเลิศฟ้ามหาสมุทร พระคุณพ่อสูงสุดมหาศาล
พระคุณพ่อเลิศฟ้าสุทธาธาร ขอกราบกรานพระคุณพ่ออย่างแท้จริง