วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

วุฒิธรรม คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ


จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฒิ (คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ) ๔ อย่าง
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบ ด้วยกาย
วาจา ใจ ที่ เรียกว่า สัตบุรุษ.
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ.
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดี หรือชั่ว โดย
อุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม
ซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว.

อะไร เรียกว่า วุฒิ มีกี่อย่าง ?
ธรรมเป็นเหตุแห่งความเจริญ หรือ เป็นเครื่องเพิ่มพูนความเจริญ เรียก วุฑฒิ
มี ๔ อย่าง
วุฒิ ๔ อย่าง คือ อะไรบ้าง ?
วุฒิ ๔ อย่าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบสัตบุรุษ ผู้ประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพ
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือที่ชั่ว ด้วยอุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้ตรองเห็นแล้ว
เป็นเหตุผลเนื่องกันอย่างไร ?
เป็นเหตุเป็นผลเนื่องกัน คือ
๑. คบสัตบุรุษ
๒. เป็นเหตุให้ได้ฟังคำสั่งสอนของท่านโดยเคารพแล้ว
๓. เป็นเหตุให้ได้ใช้ความตริตรองหาเหตุผล ให้รู้จักผิดและถูกโดยถ่องแท้ คนที่รู้จักผิดและถูกได้ก็เพราะอาศัยโยนิโสมนสิการซึ่งเป็นผลสำเร็จมาแต่การฟังคำสอน
๔. ต่อจากนั้นก็จักเป็นเหตุให้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว
เมื่อคบสัตบุรุษแล้วจะได้ผลดีอย่างไร ?
ย่อมได้ฟังคำแนะนำในทางที่ดี เมื่อได้ฟังแล้ว จดจำใส่ใจ เพ่งพิจารณาให้เข้าใจชัด ปฏิบัติให้เหมาะสม เมื่อพร้อมด้วยธรรมทั้ง ๔ นี้ ย่อมมีแต่ความเจริญ
สัตบุรุษ หมายถึงใคร ?
หมายถึง คนดี มีความประพฤติดี มีกาย วาจา ใจ สงบมีจิตมั่นคง ประกอบด้วยธรรม ของสัตบุรุษ มีรู้จักเหตุ รู้จักผล เป็นต้น
ทำอย่างไร เรียกว่าคบสัตบุรุษ ?
คือ การเข้าไปมาหาสู่ และ ทำความสนิทสนมกับท่าน (สัตบุรุษ ผู้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ) โดยควรแก่ฐานะนั้น ๆ เรียกว่าคบสัตบุรุษ ฯ
อะไร ชื่อว่าสัทธรรม ?
คำสั่งสอนของสัตบุรุษ ชื่อว่าสัทธรรม
อะไรชื่อว่าสัทธัมมัสสวนะ ?
การเงี่ยหูรับเสียงธรรม ตั้งใจฟังคำแนะนำ สั่งสอน ตักเตือนของท่านสัตบุรุษด้วยความเคารพ คือ ไม่ส่งใจไปอื่น กำหนดจดจำ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติตาม ชื่อว่าสัทธัมมัสสวนะ
ฟังเช่นไร ชื่อว่าฟังโดยเคารพ ?
ตั้งใจฟังด้วยมีสติ คอยกำหนดตาม ไม่ปล่อยให้อารมณ์ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ คอยประคองใจให้ดำเนินไปตามกระแสความที่ท่านสอนนั้นเท่านั้น ชื่อว่าฟังโดยเคารพ
ตริตรองเช่นไร ชื่อว่าตริตรองโดยอุบายที่ชอบ ?
ตริตรองโดยใช้วิจารณปัญญาพิจารณาให้รู้จักนัยและลักษณะของธรรมนั้น ๆ และไตร่ตรองดูว่าธรรมนั้นควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลแก่ตน เมื่อทราบชัดแล้ว เลือกฟั้นผ่อนผันปฏิบัติให้เหมาะสมกับกาละเทศะ ภูมิ ฐานะของตน ชื่อว่าตริตรองโดยอุบายที่ชอบ
โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือที่ชั่ว ด้วยอุบายที่ชอบ หมายถึงอะไร ?
หมายถึงความคิดนึกตรึกตรองพิจารณาให้ถ่องแท้ให้แจ่มแจ้ง ประจักษ์ถึงเหตุเกิดของสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้ม ได้สัมผัส ได้รู้ ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.
ประพฤติเช่นไร เรียกว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ?
ประพฤติดี ปฏิบัติให้พอควรแก่ความดี กล่าวคือ ต้อง ปฏิบัติด้วยกายวาจาใจให้สมควรแก่ตน คือ ต้องประพฤติ ปฏิบัติให้พอควรแก่ฐานะ ภาวะ เพศ วัย และหน้าที่ และให้เหมาะแก่การและสถานที่ ชื่อว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
จงสงเคราะห์วุฒิ ๔ ลงในไตรสิกขา ?
ข้อ ๑ และข้อ ๔ (สัปปุริสสังเสวะ และธัมมานุธัมมปฏิบัติ) ลงในสีลสิกขา
ข้อ ๒ และข้อ ๓ (สัทธัมมัสสวนะ และ โยนิโสมนสิการ) ลงในปัญญาสิกขา
บุคคลประพฤติตามวุฒิ ๔ จะให้ผลเป็นอย่างไร ?
บุคคลประพฤติตามวุฑฒิ ๔ โดยลำดับ ความเจริญก็จะเกิดมีแก่บุคคลผู้ประพฤติตามโดยลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น: